รวมถึงยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการควบคุมมาตรฐานสินค้าประมงนำเข้า-ส่งออก โดยเร่งรัดให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินงานและดำเนินความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงการยอมรับร่วม (MRA) ให้เกิดความต่อเนื่องโดยเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวก การนำเข้า-ส่งออกสินค้าประมงระหว่างสองประเทศให้เป็นไปอย่างราบรื่นไม่สะดุด และหวังว่าในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะขยายความร่วมมือและเพิ่มขอบเขตสินค้าที่รับรองระหว่างกันให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะสินค้าหลักที่มีการนำเข้า-ส่งออกระหว่างกันในปริมาณมาก เช่น สาหร่าย เพื่อให้ MRA ฉบับนี้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงสาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือด้านประมง 2 ฉบับด้วยว่า ในเอ็มโอยูความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมง IUU นั้นมีเป้าหมายร่วมเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรับรองการจับสัตว์น้ำ แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการพัฒนาทรัพยากรประมง ขณะเดียวกันยังมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยและการพัฒนาด้านประมง และเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ภาครัฐและชาวประมงเพื่อการทำประมงอย่างยั่งยืน
"ภายใต้บันทึกความเข้าใจฯนี้ ไทยและเกาหลีจะต้องแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจับและการขนถ่ายสัตว์น้ำของเรือประมง เพื่อมั่นใจได้ว่าข้อมูลบนใบรับรองการจับสัตว์น้ำมีความถูกต้อง และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยทั้ง 2 ฝ่าย จะตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อเป็นกลไกในการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาด้านการประมง IUU ของไทยและเกาหลีอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการแสดงเจตจำนงของไทยในการสร้างความร่วมมือด้าน IUU กับนานาชาติ" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
สำหรับข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วม (MRA) การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยด้านสุขอนามัยในผลิตภัณฑ์ประมงนำเข้าและส่งออก มีสาระสำคัญเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการควบคุมคุณภาพและสุขอนามัยของสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ของทั้งสองประเทศ พร้อมแลกเปลี่ยนด้านกฎระเบียบ มาตรฐาน ความรู้ด้านการตรวจสอบสินค้าประมง และกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนสถานประกอบการที่ส่งออก โดยประเทศผู้ส่งออกจะต้องควบคุมตรวจสอบโรงงานผลิตสินค้าประมง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าประมงมีสุขอนามัยและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยทั้งสองประเทศจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยในสินค้าประมงนำเข้าระหว่างกัน ซึ่งคาดว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออก นำเข้า และเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาทั้งยังช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพความปลอดภัยสำหรับสินค้าประมงระหว่างไทยและเกาหลีด้วย
"ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีถือเป็นคู่ค้าสินค้าประมงที่มีการส่งออกและนำเข้าระหว่างกันค่อนข้างสูง โดยปี 2558 ที่ผ่านมา ไทยได้ส่งออกสินค้าประมงไปยังเกาหลี ปริมาณ 29,040 ตัน มีมูลค่ากว่า 5,621 ล้านบาท มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง กุ้งปรุงแต่ง และเนื้อปลาแบบฟิลเลและเนื้อปลาสดแช่เย็น/แช่แข็ง ขณะเดียวกันไทยก็มีการนำเข้าสินค้าประมงจากเกาหลี ปริมาณ 90,693 ตัน มีมูลค่า ประมาณ 4,208 ล้านบาท สำหรับสินค้าที่มีการนำเข้ามากที่สุด คือ ปลาทูน่าแช่เย็นจนแข็ง สาหร่ายทะเล ปลาอื่นๆที่ไม่ใช่ทูน่า และปลาหมึกแช่เย็นจนแข็ง เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจากความร่วมมือด้านการประมงต่างๆ ระหว่างไทย-เกาหลี จะสามารถช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและผลักดันให้มีการขยายมูลค่าการส่งออกระหว่างกันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรและอาหารที่มีศักยภาพในระยะยาว"พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
ด้านนายคิม ยอง ซุก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาสมุทรและประมง (MOF) สาธารณรัฐเกาหลี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ยินดีให้การสนับสนุนประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาประมงไอยูเยูในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องระบบการติดตามเรือประมง เรื่องการแก้ไขกฎหมายที่สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกาหลีใต้ดำเนินการมาแล้ว ซึ่งการแก้ไขประมงไอยูยูไม่ใช่เพียงฝ่ายไทยเท่านั้นเนื่องจากเกาหลีใต้และไทยมีการค้าขายสินค้าประมงกันในปริมาณมาก