นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก เพื่อบริหารจัดการพื้นที่และสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจให้ได้สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และปริมาณสอดคล้องกับความต้องการ มีเขตเกษตรเศรษฐกิจที่เหมาะสมตามนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยการขับเคลื่อนโครงการในปีงบประมาณ 2559 เน้นการดำเนินการในพื้นที่ ศพก. 882 ศูนย์ และเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยใช้แผนที่ความเหมาะสมในการปลูกพืชสำคัญในระดับตำบล เป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้เรื่องความเหมาะสมของพื้นที่การเกษตรแก่เกษตรกร กำหนดระดับความเหมาะสมในการปลูกพืชแต่ละชนิดเป็น 4 ระดับ คือ S1 เหมาะสมมาก S2 เหมาะสมปานกลาง S3 เหมาะสมน้อย และ S4 ไม่เหมาะสม ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกพืชเหมาะสมกับพื้นที่อยู่แล้ว (S1 และ S2) จะได้รับการถ่ายทอดความรู้เพิ่มเติมด้านการลดต้นทุนการผลิต ส่วนเกษตรกรที่ปลูกพืชไม่เหมาะสมกับพื้นที่ (S3 และ N) จะมีมาตรการสนับสนุนให้ดำเนินการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่เหมาะสม ได้แก่ การเสนอทางเลือกในการผลิตพืชที่เหมาะสม การถ่ายทอดความรู้ในการปลูกพืชดังกล่าว และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ สระน้ำในไร่นาขนาดเล็ก วัสดุปรับปรุงบำรุงดิน เป็นต้น
จากการติดตามประเมินผลของ สศก. ในช่วงดำเนินงานโครงการ พบว่า ได้มีการถ่ายทอดความรู้ด้านการ ลดต้นทุนการผลิตในเขตเหมาะสม (S1 และ S2) ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกพืชเหมาะสมร้อยละ 84 ได้รับการถ่ายทอดความรู้แล้ว โดยร้อยละ 85 นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การใช้สารชีวภัณฑ์ การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในปริมาณที่เหมาะสม เป็นต้น
ในส่วนของเกษตรกรที่ปลูกพืชไม่เหมาะสมกับพื้นที่ (S3 และ N) ได้รับการอบรม/ชี้แจงผลกระทบจากการปลูกพืชไม่เหมาะสมและเสนอทางเลือกในการปรับเปลี่ยนการผลิตแล้วโดยร้อยละ 78 อยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนของเกษตรกรที่สำรวจ
ด้านความพึงพอใจ พบว่า เกษตรกรร้อยละ 79 มีความพึงพอใจในระดับมาก เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่ทำให้เกษตรกรได้ทราบความเหมาะสมของพื้นที่การเกษตร และมีการส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชให้เหมาะสมสามารถลดต้นทุนและได้ผลผลิตในปริมาณที่เหมาะสมและมีคุณภาพ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัดการรวบรวมพื้นที่ และจำนวนเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว (N) และวางแผนบูรณาการเพื่อหน่วยงานภาครัฐเข้าไปส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบาย Zoning และใช้แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit