EPCO ครึ่งปีแรกกำไรพุ่ง 30.4% - บอร์ดเคาะจ่ายปันผล 0.08 บาท/หุ้น พร้อมแจกวอแรนต์

16 Aug 2016
EPCO ครึ่งปีแรกกำไรพุ่ง 30.4% - บอร์ดเคาะจ่ายปันผล 0.08 บาท/หุ้น พร้อมแจกวอแรนต์ เริ่มรับรู้รายได้และกำไรจากโรงไฟฟ้าแก๊สธรรมชาติ 360 MW ไตรมาส 4/59 หนุนกำลังการผลิตพุ่งแตะ 425 MW-ดัน EP เข้าตลาดหุ้นปี 2560
EPCO ครึ่งปีแรกกำไรพุ่ง 30.4% - บอร์ดเคาะจ่ายปันผล 0.08 บาท/หุ้น พร้อมแจกวอแรนต์

EPCO โชว์ผลงานครึ่งแรกปี"59 สุดอลังฯ กำไรสุทธิ 180 ล้านบาท (หลังหัก minority interest 21.5 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 30.4 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บอร์ดไฟเขียวจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตรา 0.08 บาท/หุ้น พร้อมแจก Warrant (EPCO-W2) พร้อมรับรู้รายได้และกำไรจากโรงไฟฟ้าแก๊สธรรมชาติ 360 MW ใน Q4/59 หนุนกำลังการผลิตแตะ 425 MW ก่อนดัน "อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป" เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในช่วงปลายปี"60

นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) (EPCO) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยในไตรมาส 2/59 มีกำไรสุทธิ 97.74 ล้านบาท(หลังหัก minority interest 23.8 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 23.12 ล้านบาท หรือ 31 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ผลการดำเนินงานในงวดครึ่งแรกของปี 2559 บริษัทและบริษัทย่อย 59 มีกำไรสุทธิ 180 ล้านบาท(หลังหัก minority interest 21.5 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 41.9 ล้านบาท หรือ 30.4 %

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯมีมติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับงวดผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรก ของปี 2559 ในอัตรา 0.08 บาท/หุ้น พร้อมแจก Warrant (EPCO-W2) โดยเตรียมจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 20 ต.ค. 2559 เพื่อขออนุมัติออก Warrant และชี้แจงว่าที่จ่ายปันผลเงินสดน้อยกว่าปีที่แล้วเนื่องจากบริษัทลูก EP ไม่ได้จ่ายปันผลระหว่างการเพื่อเตรียมเงินไว้จ่ายค่าซื้อโรงไฟฟ้า Co-gen

สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าในการเตรียมความพร้อมเพื่อนำ บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) ซึ่งเดิมคือ บริษัท บ่อพลอย โซล่าร์ จำกัด ซึ่งคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในปี 2560 และตั้งเป้ากำไรเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันบริษัทฯ EP มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ COD แล้วรวมจำนวน 11 โครงการ มีกำลังการผลิตในประเทศจำนวน 16.5 เมกะวัตต์ และที่ญี่ปุ่นกำลังก่อสร้าง 12 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ได้ใน ต.ค./59 และยังกำลังพัฒนาในญี่ปุ่นอีก 25-30 เมกะวัตต์

โดยล่าสุด ที่ประชุมบอร์ด ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ได้มีมติอนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาการเข้าทำรายการเข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งทางตรงและทางอ้อม ในสัดส่วน 49.50% ของ บริษัท พีพีทีซี จำกัด (PPTC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ระบบ Cogeneration กำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 120 MW และไอน้ำกำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 30 ตันต่อชั่วโมง ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ซึ่งในปัจจุบัน PPTC ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติให้ทำรายการเข้าซื้อหุ้นสามัญทางอ้อม ในสัดส่วน 30% ของ บริษัท เอสเอสยูที จำกัด (SSUT) ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ระบบ Cogeneration กำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 240 MW และไอน้ำกำลังการผลิตสูงสุดประมาณ 60 ตันต่อชั่วโมง ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ใน Q4/2559

สำหรับมูลค่าการลงทุนทั้ง 2 โครงการอยู่ที่ 2,649.68 ล้านบาท ลงทุนผ่าน EP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ EPCO โดยเงินที่ใช้สำหรับการลงทุนครั้งนี้ จะมาจากเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนของ EP จำนวน 750.00 ล้านบาท รวมถึงการออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทฯ และ/หรือ EP โดยเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ EPCO เตรียมจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาการเข้าซื้อสินทรัพย์ในวันที่ 19 ก.ย. 2559 นี้

ประธานกรรมการ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) (EPCO) กล่าวอีกว่า มั่นใจว่าการเข้าซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมและสร้างความเติบโตของรายได้ที่มั่นคงให้แก่บริษัทฯในอนาคต ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกำไรและกระแสเงินสดกลับมายังบริษัทฯในระยะเวลาอันรวดเร็ว สร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯในระยะยาว และจากการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าแก๊สธรรมชาติ กำลังการผลิต 360 MW ในครั้งนี้ ส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 425 MW ก่อนที่จะนำบริษัทฯ EP เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ภายในปี 2560 นี้ และวางเป้าภายในปี 2561 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 600 MW