โครงการ "ส่งเสริมมาตรฐานอาหารไทยและและความเป็นเอกลักษณ์ด้านรสชาติอาหารไทย สู่ภาคอุตสาหกรรม" มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับภาคการผลิตและการบริการอุตสาหกรรมอาหารให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากลเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยยังคงความเป็นเอกลักษณ์อาหารไทย และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เป็นการสร้างมาตรฐานอาหารไทยโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้านวิเคราะห์ทดสอบกลิ่นรสอาหารด้วยเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์มาเชื่อมโยงเข้ากับการทดสอบรสชาติโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการและผ่านการรับรองจะได้รับเครื่องหมายมาตรฐานอาหาร "รสไทยแท้"(Rod Thai Tae)
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในพิธีเปิดงาน "Authentic Thai Food for the World" ที่จัดโดยสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า อุตสาหกรรมอาหารของไทยนับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ มีมูลค่าการผลิต 1.64 ล้านล้านบาท ได้พัฒนาจากขั้นเริ่มต้นที่เป็นการแปรรูปสินค้าพืชผลเพื่อการส่งออก ไปสู่การใช้เทคนิคการผลิตที่ทันสมัย มีความมั่นคงทางด้านอาหาร และกลายเป็นผู้ผลิตอาหารสำหรับตลาดโลก เป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารสุทธิ (net export) อันดับที่ 5 ของโลก มีผู้ประกอบการทั้งสิ้น 110,000 ราย ทั้งนี้โครงสร้างต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร มีการใช้วัตถุดิบที่มาจากภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 ของต้นทุนการผลิตรวม
"โครงการ Authentic Thai Food for The World มีความคิดริเริ่มมาจากท่านนายกรัฐมนตรี อยากจะเห็นอาหารไทยมีรสชาติเป็นอาหารไทยแท้ จะช่วยส่งเสริมอาหารไทยทั้งภาคธุรกิจบริการอาหาร และภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้ก้าวไกลไปทั่วโลกพร้อมกัน หากมีการเชื่อมโยงและร่วมมือกันสร้างโอกาสให้ธุรกิจ การนำเอาหลักการสากลด้านกระบวนการรับรองมาตรฐาน และหลักการทางวิทยาศาสตร์มารองรับ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างอัตลักษณ์อาหารไทย ให้ต่างชาติได้รับรู้ว่ารสชาติอาหารไทยที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร โดยใช้ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ ผนวกกับด้านประสาทสัมผัสในการสร้างมาตรฐานให้อยู่ในช่วงค่าที่ยอมรับได้ เนื่องจากผู้บริโภคในแต่ละประเทศอาจจะมีรสนิยมในด้านรสชาติที่แตกต่างกันบ้าง ก็สามารถนำไปปรับตามความต้องการได้ โดยยังคงอยู่ในช่วงมาตรฐานก็ไม่ถือว่าผิดกติกา"
นางอรรชกา กล่าวต่อว่า แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยต่อไปในอนาคต จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงการส่งออก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีบทบาทหลักในการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารให้มีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก รวมทั้งการยกระดับผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิต และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหาร นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมพร้อมรองรับอุตสาหกรรม 4.0 การยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมและรักษาภูมิปัญญาอาหารไทย การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ และการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหาร จะดำเนินงานประสานการบูรณาการ เพื่อทำงานขับเคลื่อนมาตรฐานรสไทยแท้ในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยนำเสนอต่อรัฐบาลตามลำดับต่อไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับกระทรวงต่างๆ เพื่อจัดทำบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้ครอบคลุมในทุกมิติของการส่งเสริมมาตรฐานอาหารไทย และความเป็นเอกลักษณ์ด้านรสชาติอาหารไทยสู่ภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น
อนึ่ง การจัดเลี้ยงอาหารไทยต้นแบบ 13 เมนู ในรูปแบบกาลาดินเนอร์ในงานวันนี้ แบ่งเป็นอาหารคาว 11 เมนู ได้แก่ ส้มตำไทย ผัดไทย กะเพราหมู ต้มยำกุ้งน้ำใส ต้มยำกุ้งน้ำข้น มัสมั่นไก่ สะเต๊ะไก่ ลาบหมู ต้มข่าไก่ พะแนงเนื้อ แกงเขียวหวานไก่ และอาหารหวาน 2 เมนู ได้แก่ ทับทิมกรอบ และข้าวเหนียวมูนมะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งเป็นเมนูนำร่องที่สถาบันอาหารได้ร่วมกำหนดสูตรกับผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารไทยในการปรุงและทดสอบโดยการชิมและดมกลิ่น หลังจากนั้นนำอาหารไปทดสอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยใช้เครื่อง Electronic nose และ Electronic tongue มาช่วยในการตรวจวัดคำนวณค่ากลิ่นรส และรสชาติค่าความเผ็ด ความเค็ม ความหวาน ความเปรี้ยว และอูมามิ เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลใช้เป็นค่ามาตรฐานในการอ้างอิงจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้การรับรองมาตรฐานอาหารไทยให้กับผลิตภัณฑ์อาหารไทยที่ส่งออก ตลอดจนเมนูอาหารที่ให้บริการในร้านอาหารไทยทั่วโลก