บอร์ด กวช. หนุน 6 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสภาวัฒนธรรมทุกระดับ สานต่องานวัฒนธรรมสู่ท้องถิ่น-ภูมิภาค ครอบคลุมทั่วประเทศ

29 Aug 2016
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ครั้งที่ 3/2559 ว่า ที่ประชุม กวช. ได้มีการหารือและเสนอความเห็นเกี่ยวกับ แผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานสภาวัฒนธรรม ปี 2559 - 2562 เพื่อให้สภาวัฒนธรรมทุกระดับสามารถนำไปขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมได้สอดคล้องกับภารกิจที่กำหนดไว้ เนื่องจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้รายงานว่าพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 มาตรา 13 กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมที่มีสถานภาพเป็นองค์กรภาคเอกชน ที่ดำเนินงานวัฒนธรรมภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม แบ่งเป็นสภาวัฒนธรรมระดับต่างๆ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 สภาวัฒนธรรมทุกระดับทั่วประเทศประกอบด้วย สภาวัฒนธรรมตำบล/สภาวัฒนธรรมเขต สภาวัฒนธรรมอำเภอ/สภาวัฒนธรรมแขวง/สภาวัฒนธรรมเทศบาล สภาวัฒนธรรมจังหวัด รวมทั้งสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร สภาวัฒนธรรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ สภาวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ และสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยเป้าหมายการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมในแต่ละระดับ เพื่อเป็นเครือข่ายและช่วยขับเคลื่อนนโยบายของ วธ. ลงไปยังส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น และ ตำบล เพื่อให้การทำงานวัฒนธรรมครอบคลุมและชัดเจนยิ่งขึ้น

พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามสภาวัฒนธรรมทุกระดับในขณะนี้จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งและจะต้องดำเนินการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมชุดใหม่แทนสภาวัฒนธรรมชุดเดิม และเพื่อให้สภาวัฒนธรรมสามารถดำเนินงานขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมตามความต้องการของสังคมทุกระดับ และมีความสอดคล้องกับภารกิจที่กำหนดไว้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงจัดทำยุทธศาสตร์การดำเนินงานสภาวัฒนธรรมปี 2559 - 2562 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ย่อย จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสภาวัฒนธรรม ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างความเข้มแข็งของสภาวัฒนธรรม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพทุนทางวัฒนธรรมสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฐานรากเชิงสร้างสรรค์ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาและขยายเครือข่ายการดำเนินงานวัฒนธรรม ยุทธศาสตร์ที่5 เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ยุทธศาสตร์ที่ 6 เสริมสร้างการประชาสัมพันธ์งานวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ฉบับแรกว่า การจัดทำยุทธศาสตร์เป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้บทบาทสภาวัฒนธรรมมีความชัดเจน และเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนเพื่อสร้างเครือข่ายด้านวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนงานของวธ. เนื่องจากสภาวัฒนธรรมทุกระดับมีเครือข่ายกว่า 5 แสนคน อย่างไรก็ตามการจัดทำแผนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับวธ. ซึ่งหลังจากนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแก้ไขแผนยุทธศาสตร์ให้มีความชัดเจนและครอบคลุมต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานแผนการส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อความยั่งยืนในด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่ 1. ส่งเสริมความเป็นเลิศด้านศิลปวัฒนธรรมใน 2 ระดับ คือการจัดประกวดแข่งขันทางศิลปวัฒนธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ 2. จัดการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลและคณะบุคคลต้นแบบทางด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินศิลปาธร บูรพศิลปิน และศิลปินพื้นบ้าน และ 3. จัดทำปฏิทินกิจกรรมทางวัฒนธรรม ประจำปี 2560