ดร.ชาญกฤช กล่าวถึงศักยภาพอันแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการว่าปัจจุบันจังหวัดสมุทรปราการมีโรงงานมากที่สุดในประเทศไทยจำนวน 7,844 แห่ง ประกอบด้วย 2 นิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปูมีโรงงาน 420 แห่ง นิคมอุตสาหกรรมบางพลี 130 แห่ง และมีโรงงานอยู่นอกนิคมอีก 7,294 แห่ง โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมฟอกหนัง อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องจักร/อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ ไฟฟ้า/ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงเป็นอันดับ 7 ของประเทศ
นอกจากนี้ สมุทรปราการยังมีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์เพราะตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางของประเทศและยังเป็นแหล่งวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นคลังสินค้าที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ทำให้การขนส่งวัตถุดิบและสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมในอำเภอต่างๆ มีความสะดวกและเสียค่าใช้จ่ายต่ำ โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่จะช่วยให้เกิดความเจริญก้าวหน้า และดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาประกอบกิจการ
สำหรับทิศทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดสมุทรปราการในระยะ 1-2 ปี ข้างหน้าดร.ชาญกฤช เปิดเผยว่าจะมุ่งเน้นการดำเนินงานส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน โดยเน้นประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยีการผลิต การวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพและรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานมีต้นทุนการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ ยังมีแผนผลักดันการพัฒนากระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) และเตรียมการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมในแหล่งอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมระบบโลจิสติกส์สู่ประชาคมอาเซียน โดยพัฒนาการบริหารจัดการและปรับปรุงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นฐานการผลิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
"การเปิดเออีซีที่ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างอิสระ ไม่มีภาษี ไม่มีการกีดกันทางการค้า นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแล้ว ยังนำมาซึ่งการแข่งขันอย่างเสรีอีกด้วย ในแง่ของผู้ประกอบการรายใหญ่อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่สำหรับเอสเอ็มอีแล้ว ถือว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่สภาฯ ค่อนข้างให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพให้พร้อมรองรับการแข่งขันดังกล่าว โดยสภาฯ ได้ตั้งทีมทำงานเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอี พร้อมทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ช่วยวางแผนงาน สนับสนุนการเข้าสู่ระบบจดทะเบียนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหรือใบ รง.4 เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและโอกาสในการทำธุรกิจที่มากขึ้น" ดร.ชาญกฤช กล่าวอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของจังหวัดสมุทรปราการคือการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารูปแบบการจัดทำเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งทางจังหวัดสมุทรปราการนับเป็น 1 ใน 5 จังหวัดนำร่องที่ได้เริ่มจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทพัฒนาเมืองมาตั้งแต่ปี 2557 และขณะนี้เตรียมเสนอต่อคณะกรรมการ ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
"สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ทางสภาฯ จึงมุ่งมั่นดำเนินโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งเป้าหมายที่จะขยายการพัฒนาให้ครอบคลุมไปยังทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อสร้างความมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับจังหวัดและประเทศต่อไป"
นับว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเมืองปากน้ำ ตามแผนงานและนโยบายของประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการคนใหม่ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และพร้อมรับมือกับการแข่งขันในเวทีการค้าอาเซียนได้อย่างมั่นคง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit