ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัด "งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559"(National Science & Technology Fair 2016) ขึ้นเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" พร้อมทั้งผนวกรวมเอา"งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย 2559" (Techno Mart 2016) เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" พร้อมกันนี้เพื่อร่วมฉลองวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ตั้งให้ปี 2559 เป็น "ปีสากลแห่งถั่วพัลส์" หรือ "2016 International Year of PULSES" อีกด้วย ภายใต้แนวคิด "จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม" ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งปีระดับประเทศและแถบภูมิภาคเอเชีย ที่แสดงผลงานความก้าวหน้าและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ก้าวล้ำนำสมัย ศักยภาพของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทย โดยการผนึกกำลังร่วมกันกับ 9 กระทรวง 18สถาบันการศึกษา รวมมากกว่า 100 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน และยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศเข้าร่วมงานอีก 8 ประเทศ มากกว่า 10 หน่วยงานร่วมกันจัดกิจกรรมแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรมการค้นคว้าใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ อาทิประเทศ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมัน เกาหลีใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย และจีน ซึ่งผ่านมาแค่ 8 วัน มียอดผู้เข้าชมงานเกือบ 1 ล้านคนแล้ว สร้างความปลาบปลื้มให้กับคณะผู้บริหาร คณะผู้ดำเนินงาน ทีมงาน และหน่วยงานร่วมจัดทุกคนอย่างยิ่ง คาดอีก 3 วันที่เหลือนี้ จะมียอดผู้เข้าชมเกิน 1 ล้านคนอย่างแน่นอน นับเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กับสังคมไทย โดยในปีนี้เรียกได้ว่าทุกบูธสร้างความน่าสนใจกับผู้เข้าชมทั้งที่เป็นเด็ก เยาวชน อาจารย์ ผู้ปกครอง ครอบครัว และประชาชนจริงๆ ดูได้จากที่ผู้คนล้นหลามต่อแถวเข้าคิวยาวกันแทบทุกบูธ ซึ่งที่ผ่านมา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หน่วยงานหลักในการบริหารจัดการได้ดำเนินการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างดียิ่ง สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชม หลายคนกลับมาชมซ้ำ หลายคนบอกว่ามาแล้วได้ความรู้เพิ่มขึ้นและรู้สึกสนุกสนานกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น
ดร.พิเชฐฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีเวลาที่เยาวชนและประชาชนจะได้มาเรียนรู้ "งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559" กิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีของประเทศนี้ได้อีกจนถึงวันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม นี้ ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมกันเปิดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างเพลิดเพลินสนุกสนานระดับภูมิภาคเอเชียนี้กันให้ได้ โดยมีไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาด อาทิ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ ที่นำเสนอ พระอัจฉริยภาพและคุโณปการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"พบกับนิทรรศการย้อนรอยอดีตสยามประเทศไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ชมพระอัจฉริยภาพและพระราชกรณียกิจของบูรพมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงวางรากฐานวิทยาศาสตร์ไทยที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ พลาดไม่ได้กับ Magic Vision เหตุการณ์สุริยุปราคาที่เคยเกิดขึ้นในสยามประเทศ ที่นำมาอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์การโคจรของดวงดาวนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" ชื่นชมกับพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์ ตั้งแต่การประกอบวิทยุแร่ โมเดลเรือรุ่นต่างๆ สิ่งประดิษฐ์เพื่อปวงชน เครื่องจักรกลเติมอากาศแบบจำลอง ทรงพัฒนาคนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับโรงเรียนพระดาบสในพระราชดำริ เพื่อฝีกอาชีพแก่ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและ ขาดแคลนทุนทรัพย์ พลาดชมไม่ได้กับเรือใบฝีพระหัตถ์ลำจริง "เรือซุปเปอร์มดAX7" และ "เรือเวคา 2" ที่ทรงออกแบบและต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง โดยในส่วนของเรือเวคา 2พระองค์ทรงเคยนำเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ณ ประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2510 และทรงเป็นผู้ชนะเลิศรางวัลเหรียญทองในการแข่งขันคราวนั้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญเรือใบส่วนพระองค์ทั้ง 2 ลำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ยังความปลื้มปิติเป็นล้นพ้นให้แก่คณะทำงาน และถือเป็นข่าวดีสำหรับพสกนิกรชาวไทยที่จะได้มีโอกาสชื่นชมเรือใบฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด และจุดนี้ยังถือเป็น Landmark อันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของงาน"ประดิษฐกรรมวิวัฒน์ นครา" เริ่มต้นจากความเข้าใจ "พลวัตธรรมชาติ สู่นวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาประเทศ" ที่นำเสนอในรูปแบบ "Ball Kinetic System" อันสื่อความถึงแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการแก้ปัญหาด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พระปรีชาสามารถที่ทรงสร้างสรรค์และผสานการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ก่อเกิดเป็นประดิษฐกรรมล้ำค่า ที่ช่วยปัดเป่าขจัดปัญหาและขับเคลื่อนพัฒนาประเทศได้อย่างมากมาย นอกจากนี้ ยังนำเสนอพระราชกรณียกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย
ส่วนใครที่มีความสนใจนิทรรศการที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศไปสู่ "Valued-Based Economy" หรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (New Growth Engine) เพื่อให้มีการเจริญเติบโตก้าวไกลด้วยการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-curve มุ่งสู่Thailand 4.0 ต้องมาที่ นิทรรศการยานยนต์แห่งอนาคตและการขนส่ง ตื่นตาตื่นใจไปกับยานยนต์สมัยใหม่ที่มีระบบการทำงานประสิทธิภาพสูง ทั้งความปลอดภัยและกำลังส่ง ยานยนต์ที่ขนส่งผู้โดยสารจำนวนมาก เช่น ระบบราง พบกับ รถโฟมสะเทินน้ำสะเทินบก ยานยนต์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการในอนาคต รถพลังงานแสงอาทิตย์ / นิทรรศการนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ร่วมตะลุยโลกหุ่นยนต์ที่มีหุ่นยนต์สีเขียวตัวใหญ่รูปร่างเท่ห์ ยืนต้อนรับและดึงดูดสายตาเด็กๆ ให้เข้ามาเยี่ยมชมถ่ายรูป ชื่นชมไปกับความน่ารักของหุ่นยนต์นาโอะขวัญใจเด็กๆ ที่เสมือนเป็นเพื่อนเล่นหรือสัตว์เลี้ยงตัวน้อยแสนรักของเราได้ เรียนรู้ไปกับเทคโนโลยีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมต่างๆ / นิทรรศการเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการแพทย์และสุขภาพ นำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาและประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีวิศวกรรมในการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาทางการแพทย์ในอนาคต Telemedicine, Neuro-marketing หุ่นยนต์จัดยาอัตโนมัติ ที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย ไร้กังวล การรักษาด้วยหุ่นยนต์ การแพทย์แผนไทยในยุคดิจิทัล พบกับไฮไลท์ "หุ่นยนต์ดินสอมินิ" หุ่นยนต์บริการและดูแลผู้สูงอายุ ได้ภายในงานนี้อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีนิทรรศการที่ให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคม และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาทิ นิทรรศการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก สัมผัสประสบการณ์ตื่นเต้นสนุกสนานไปกับภาพยนตร์ "The Last Day" ในรูปแบบ 4D Simulator ที่ทุกคนรอคอย...ตื่นตา ตื่นใจไปกับหิมะ ลมพายุที่โหมกระหน่ำ ที่ใช้เทคนิคจำลองสถานการณ์เสมือนจริง ท่ามกลางอุบัติภัยทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย 4D Effect สมจริง โดยการพาทุกคนย้อนเวลากลับไป ณ จุดกำเนิดโลก เรียนรู้เรื่องราวช่วงเวลาสำคัญที่ผ่านมาของโลกถึงยุคปัจจุบันที่มนุษย์อาจต้องสูญสิ้นทุกอย่าง เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกของเราและการช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อการดำรงอยู่อย่างสมดุลบนโลกใบนี้ / นิทรรศการอนาคตเทคโนโลยีชีวภาพโลก รู้จักอารยธรรมการหมัก เทคโนโลยีชีวภาพที่เก่าแก่และใกล้ตัวที่สุด ตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ พบกับ "ไหดินเผา" สูดกลิ่นและชมการเปลี่ยนสภาพของปลาร้า อาหารหมักไม่เคยเอ้าท์ เพลิดเพลินกับการค้นหาความรู้ใน Bio Lab ตลาดรวมสินค้าBio Mart และสำรวจอาชีพในฝัน Bio Job ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี / นิทรรศการ Miracle of Science :มหัศจรรย์แห่งไข่ จุดกำเนิดชีวิต...จุดกำเนิดเรา ชม "ไข่ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย" กว่า 125 ปี สัมผัสและทดสอบความแข็งแกร่งของไข่นกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเรื่องราวมหัศจรรย์อันน่าทึ่งของไข่อีกมากมายที่คุณคาดไม่ถึง / นิทรรศการเมืองแห่งถั่ว แนวคิดตามนโยบาย Food Innopolis ฉลองปีสากลแห่งถั่วพัลส์ (UNESCO International Year of Pulses) รู้จักถั่วพัลส์ชนิดต่างๆ เพลิดเพลินกับเกมส์บิงโก ร่วมสนุกกับการปลูกถั่วพัลส์ โชว์การทำอาหารจากถั่วพัลส์ ยิ่งไปกว่านั้นภายในงานยังมี / นิทรรศการและกิจกรรมสำหรับเยาวชน ได้แก่นิทรรศการ Enjoy Makerspace จากนักประดิษฐ์สู่นวัตกรรม แนวคิดจาก New York Hall of Scienceประเทศสหรัฐอเมริกา มาร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจและแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ในแนวทาง STEM Education ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์และต่อยอดสู่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับ วทน. พบกับ Maker's Showcase กิจกรรมKid Maker, Maker Studio ชมสาธิต 3D Printing 3D Stereoscopic Print Pen รวมทั้ง ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ลานกิจกรรมพัฒนาปัญญาเยาว์ ห้องฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ และการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 13 ที่จะมีรอบชิงชนะเลิศในวันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม นี้ ในเวลา 13.00 – 16.00 น. ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6 ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ อีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit