ความเข้าใจของประชาชนในคำถามพ่วงที่ผ่านการลงประชามติ

29 Aug 2016
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ความเข้าใจของประชาชนในคำถามพ่วงที่ผ่านการลงประชามติ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2559 จากประชาชนที่มี อายุ 18 ปี ขึ้นไป และเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงลงประชามติทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเข้าใจในคำถามพ่วงที่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มีสิทธิร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบ มีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่า ความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
ความเข้าใจของประชาชนในคำถามพ่วงที่ผ่านการลงประชามติ

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.24 มีความเข้าใจว่า ส.ว. สรรหา มีสิทธิทั้งเสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกฯ และร่วมกับ ส.ส. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รองลงมาร้อยละ 33.68 ไม่เข้าใจ/ไม่ทราบรายละเอียดเลย ร้อยละ 27.60 มีความเข้าใจว่า ส.ว. สรรหามีสิทธิร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ร้อยละ 1.76 มีความเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ยังมีความก้ำกึ่งอยู่ ทราบแค่ว่านายกรัฐมนตรี จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และร้อยละ 0.72 ระบุว่า ส.ว. ไม่มีสิทธิใด ๆ ในการเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างมากก็มีสิทธิเพียงแค่เสนอชื่อเท่านั้น

ด้านความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับขั้นตอนการเข้ามามีส่วนร่วมของ ส.ว. ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.12 มีความเข้าใจว่า หาก ส.ส. ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จึงจะเปิดโอกาส ให้ ส.ว. สรรหาสามารถมีส่วนร่วมกับ ส.ส. พิจารณาเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรี รองลงมาร้อยละ 33.20 ไม่เข้าใจ/ไม่ทราบรายละเอียดเลย ร้อยละ 28.08 มีความเข้าใจว่า ส.ว. สรรหามีส่วนร่วมกับ ส.ส. พิจารณาเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่การเปิดประชุมครั้งแรก ร้อยละ 0.88 มีความเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ยังมีความก้ำกึ่งอยู่ ทราบแค่ว่าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี และอาจจะมีการเลือกตั้งใน ปี 2560 และร้อยละ 0.72 ไม่ระบุ/ไม่มีความเห็น

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับคุณสมบัติบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วง เปลี่ยนผ่าน 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.68 มีความเข้าใจว่า เป็นการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้หรือคนนอกก็ได้ รองลงมาร้อยละ 26.56 มีความเข้าใจว่า เป็นการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้เท่านั้น ร้อยละ 24.08 ไม่เข้าใจ/ไม่ทราบรายละเอียดเลย ร้อยละ 0.72 มีความเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ยังมี ความก้ำกึ่งอยู่ ทราบแค่ว่าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี และร้อยละ 0.96 ไม่ระบุ/ไม่มีความเห็น

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.80 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.44 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.88 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 32.72 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 53.60 เป็นเพศชาย และร้อยละ 46.40 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 4.96 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.44 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.40 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.80 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 17.20 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 5.20 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 89.20 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.52 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.60 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 5.68 ไม่ระบุศาสนา

ตัวอย่างร้อยละ 17.20 สถานภาพโสด ร้อยละ 74.80 สมรสแล้ว ร้อยละ 1.92 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 6.08 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 28.16 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 26.88 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.60 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.52 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.20 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 6.64 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 12.24 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.40 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.24 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.48 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.68 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 14.64 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.28 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 6.96 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 14.08ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.08 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.80 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.40 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.92 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 13.44 ไม่ระบุรายได้