มทร.ธัญบุรี นำกลุ่มราชมงคล ลงนาม MOU กับสิงคโปร์ และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ CDIO ระดับสูง

29 Aug 2016
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและ Singapore Polytechnic ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding - MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาแบบซีดีไอโอและจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการศึกษาแบบซีดีไอโอระดับสูง (Advanced CDIO-based Education Workshop: Introduction to CDIO (Advanced) Initiative) โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเทมาเส็ก (Temasek Foundation) ประเทศสิงคโปร์ เป็นระยะเวลาสามปีจำนวนเงิน 551,385 ดอลล่าร์สิงคโปร์ โดยกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลได้รับเงินทุนสนับสนุนในการร่วมโครงการนี้จำนวนเงิน 405,700 ดอลล่าร์สิงคโปร์
มทร.ธัญบุรี นำกลุ่มราชมงคล ลงนาม MOU กับสิงคโปร์ และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ CDIO ระดับสูง

รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ รองศาสตราจารย์ ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา รองศาสตราจารย์สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และ Mr. Tan Choon Shian, Principal and Chief Executive Officer : Singapore Polytechnic ประเทศสิงคโปร์ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of understanding - MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาแบบซีดีไอโอ เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ยังมุ่งพัฒนาฝึกอบรมคณาจารย์จำนวน 250 คน จากเครือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ให้เข้าใจภาพรวมของการจัดการศึกษาแบบซีดีไอโอในระดับอุดมศึกษา โดยจะคัดเลือกคณาจารย์ผู้เข้าอบรมที่สนใจการจัดการศึกษาแบบซีดีไอโอในเชิงลึกเพื่อศึกษาในประเด็นดังนี้ การจับคู่วางแผนการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับ CDIO (Mapping CDIO Skillsets) การเพิ่มเติมความรู้ วางแผนการคิดให้สอดคล้องกับ CDIO (Enhancing CDIO Skillsets) การใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรมในการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับพื้นที่การจัดการเรียนการสอน (Innovating CDIO Learning and Space) และการปรับปรุงหลักสูตร CDIO ให้สามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง (Sustaining CDIO to Enhance Curricula) จากนั้นจะคัดเลือกคณาจารย์จำนวน 25 คนเพื่อเข้ารับการอบรมเป็น CDIO Master Trainer ต่อไป

ซึ่งการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการศึกษาแบบซีดีไอโอนี้ เป็นการสนับสนุนด้านการพัฒนาระบบการเรียนการสอน และพัฒนาขีดความสามารถของคณาจารย์ในระดับอุดมศึกษา การสร้างหลักสูตรแบบเน้นการปฏิบัติการในระดับอุดมศึกษา โดยที่กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นสถาบันอุดมศึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เน้นการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้ตรงตามแนวทาง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบริบทของการพัฒนาเทคนิคการจัดการเรียนการสอนระหว่างสิงคโปร์และไทยเป็นอย่างดี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะผู้รับผิดชอบและประสานงานโครงการ มีความคาดหวังว่าจะได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในการจัดการด้านการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้มีความสามารถตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง โดนนำเทคนิควิธีการสอนที่ได้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการจัดการศึกษาแบบซีดีไอโอระดับสูง (Advanced CDIO-based Education Workshop: Introduction to CDIO (Advanced) Initiative) โดยเริ่มต้นที่การศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากนั้นต่อยอดทางการจัดการเรียนการสอนไปยังศาสตร์แขนงอื่นๆ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ ครุศาสตร์อุตสาหกรรม บริหารธุรกิจ ตลอดจนศิลปศาสตร์