ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมและพลังงานเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกตระหนักและร่วมกันหาหนทางแก้ไข มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะสถาบันการศึกษาจึงมีนโยบายมุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University) โดยมีโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหลากหลาย อาทิ โครงการไบค์แชร์ริ่งอัตโนมัติ สวนสาธารณะพลังงานแสงอาทิตย์ ร้านกาแฟพลังงานแสงอาทิตย์ ธนาคารขยะ การผลิตไบโอแก๊สจากเศษอาหาร เป็นต้น โดยโครงการที่ใหญ่ที่สุดที่เปิดตัวในวันนี้คือโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟ หรือ "ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร" ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยตั้งเป้าติดตั้งให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 15 เมกะวัตต์ภายในปี2560
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มธ.กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีสาเหตุสำคัญที่สุดมาจากการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งได้แก่ ถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมัน ที่ปล่อยคาร์บอนออกสู่อากาศ อันเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจก และนำมาซึ่งปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขณะนี้ ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ การใช้ไฟฟ้าของเราทุกครั้งจึงเป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้ทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ไม่เกิดคาร์บอนที่เป็นสาเหตุของสภาวะเรือนกระจก โดยภายในปี 2559 นี้จะติดตั้งโซลาร์รูฟที่ผลิตไฟฟ้าได้ 6 เมกะวัตต์ และภายในปี 2560 ซึ่งจะติดตั้งได้อีก 9 เมะวัตต์ รวมเป็น 15 เมกะวัตต์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด 3อันดับแรกเป็นมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาคือ Colby College 30 เมกะวัตต์ Arizona State University 24 เมกะวัตต์ และUniversity of California 16 เมกะวัตต์ ภายในปี 2560 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะผลิตได้ 15 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 4 ของโลก และจะเป็นอันดับ 1 ของเอเชียที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้มหาวิทยาลัย โดยมากกว่ามหาวิทยาลัย Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ ที่เป็นอันดับ 1 ของเอเชียที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ 5 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ใช้ไฟฟ้าปีละประมาณ 70 ล้านหน่วย เฉลี่ยเท่ากับวันละประมาณ 190,000 หน่วย ดังนั้น โครงการดังกล่าว จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยวันละ 75,000 หน่วย ซึ่งถือเป็นการช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในมหาวิทยาลัยได้ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา กล่าว
รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน และบริหารศูนย์รังสิต มธ. กล่าวว่า นอกจากการติดตั้งโซลาร์รูฟที่ศูนย์รังสิตแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีแผนงานเตรียมขยายพื้นที่การติดตั้งหลังคาโซลาร์ไปยังศูนย์ต่างๆ ทั้งหมด ได้แก่ ท่าพระจันทร์ ศูนย์พัทยา และศูนย์ลำปาง ตามลำดับ ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ด้านพลังงานและความยั่งยืน ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนและการวิจัย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับประเทศต่อไป
"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทยปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง" สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4493
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit