ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ กล่าวว่า สถาบัน TIJ มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ได้ตระหนักถึงภารกิจสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติดให้ได้ผลสำเร็จอย่างยั่งยืนแต่จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องต่อการทำข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายแก้ปัญหายาเสพติด จึงได้ตั้งคณะทำงานสำรวจความคิดเห็นของประชาชนภายใต้ชื่อ TIJ POLL ขึ้นร่วมกับ สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) จัดทำโพลสำรวจทั้งคนกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
ในขณะที่ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล กล่าวว่า การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ปัญหายาเสพติดครั้งนี้ศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยสุ่มออกมาจาก 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก ขอนแก่น บึงกาฬ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ อยุธยา ลพบุรี นนทบุรี ราชบุรี ชลบุรี สงขลา และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 5,379 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11 – 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.3 ระบุประเทศไทยมีปัญหายาเสพติดรุนแรงค่อนข้างมากถึงมากที่สุด มีเพียงร้อยละ 8.7 ที่ระบุรุนแรงค่อนข้างน้อยถึงไม่รุนแรงเลย
ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.7 ระบุสถภาพของปัญหายาเสพติดโดยรวมส่วนใหญ่ควบคุมไม่ได้โดยแยกออกเป็นกรุงเทพมหานครร้อยละ 64.8 และต่างจังหวัดร้อยละ 69.9 ตามลำดับ และเมื่อถามถึงความยั่งยืนของการทำสงครามยาเสพติดในการแก้ไขปัญหายาเสพติด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.6 ของคนทั่วประเทศระบุ การทำสงครามยาเสพติดไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน โดยร้อยละ 61.6 ระบุแก้ได้เพียงช่วงสั้นๆ และปัญหาก็กลับมารุนแรงกว่าเดิมอีก และร้อยละ 20.0 ระบุการทำสงครามยาเสพติดไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเลย
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.6 ระบุการจับกุม คุมขังผู้เสพยาเสพติดและผู้ครอบครองยาเสพติดจำนวนน้อยไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.3 ระบุการบำบัดรักษาด้วยวิธีตามอาการผู้เสพยา เป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด และเมื่อถามถึง พฤติกรรมของผู้เสพยาเสพติด หลังออกจากคุกมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.4 ระบุเหมือนเดิม และร้อยละ 9.4 ระบุ แย่ลง มีเพียงร้อยละ 28.2 เท่านั้นที่บอกว่า ผู้เสพยาเสพติดออกจากคุกมาแล้วมีพฤติกรรมดีขึ้นและประชาชนร้อยละ 74.4 ระบุผู้เสพยาเสพติดที่ไม่ได้ทำความผิดอาญาอื่นใดอีก ควรเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร
ที่น่าพิจารณา คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.7 ระบุ คุณหมอควรเป็นผู้นำ ในการแก้ปัญหาช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติด โดยใช้กระบวนการบำบัดฟื้นฟูแบบสมัครใจ และไม่ดำเนินคดี ในขณะที่ ร้อยละ 37.6 ระบุ ตำรวจควรเป็นผู้นำ โดยใช้กระบวนการทางอาญา เช่น จับกุมผู้เสพ และบังคับให้บำบัด โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.3 ระบุจากประสบการณ์พบเห็นที่ผ่านมา ผู้เสพมีแนวโน้มกลับไปเสพยาอีก หลังจากพ้นกระบวนการบำบัด
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.1 ระบุ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐควรจะปฏิรูปการปฏิบัติต่อผู้เสพยาเสพติด มีเพียงร้อยละ 4.9 เท่านั้นที่ระบุยังไม่ถึงเวลา นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.8 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง ถ้ามีหน่วยงานแพทย์ที่บำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติดตั้งอยู่ในชุมชนที่มีปัญหายาเสพติดมาก และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.0 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง ถ้ารัฐบาลมีโครงการนำร่องแก้ปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรเป็นตัวอย่างให้ดูในบางพื้นที่ เช่น มีศูนย์แพทย์บำบัดรักษาผู้เสพยาในชุมชนโดยกระทรวงสาธารณสุข มีหน่วยงานของกระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลเรื่องอาชีพ และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ต่างๆ
ที่น่าสนใจ คือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.2 ระบุ วิธีแก้ปัญหาคนเสพยาเสพติดที่ดี รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาลดโทษทางอาญา และหันมาใช้วิธีทางการปกครองและสาธารณสุขแทน เช่น กักบริเวณ เน้นการบำบัดรักษาฟื้นฟู ให้กับผู้เสพยาเสพติดแทน โดยไม่ต้องจับผู้เสพยาที่ไม่มีความผิดอื่นเข้าคุก
ในขณะที่ ดร.กิตติพงษ์ ผอ. สถาบัน TIJ กล่าวถึงผลโพลว่า คำถามสำคัญที่ TIJ ตั้งขึ้นคือ ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องทบทวนแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดเพราะงบประมาณของรัฐหมดไปกว่าหมื่นล้านบาทในแต่ละปี แต่กลับพบว่าปัญหายาเสพติดทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี สอดคล้องกับผลโพลที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหายาเสพติดรุนแรงมากยากจะควบคุมได้และยังพบด้วยว่า ประชาชนเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปการปฏิบัติต่อผู้เสพยาเสพติดเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนต่อการปฏิรูประบบยุติธรรมของไทยด้วย เพราะเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ เป็นลูกโซ่ทั้งปัญหาคดีล้นศาลนักโทษล้นคุก ผู้เสพยาเข้าคุกออกมายังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม คำถามคือ มีความคุ้มค่าคุ้มทุนหรือไม่ในการใช้งบประมาณรัฐจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ผ่านมา
"การนำผู้ต้องหาคดียาเสพติดเข้าคุกแบบเหมารวมอาจจะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีแต่อาจจะทำให้เกิดอาชญากรคดีร้ายแรงเพิ่มขึ้นในสังคมได้อีก ด้วยเหตุนี้ การแยกกลุ่มผู้เสพและผู้ค้ารายย่อยออกจากผู้ค้ารายใหญ่และผู้ผลิตอาจจะช่วยทำให้มีวิธีการแก้ปัญหาได้ตรงกับกลุ่มปัญหา โดยมุ่งใช้มาตรการทางการปกครองและสาธารณสุขบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพกับผู้เสพที่ไม่มีความผิดอื่นใดอีกและผู้ครอบครองจำนวนน้อย ผลที่ตามมาคือ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถทุ่มทรัพยากรไปที่การปราบปรามผู้ค้ารายใหญ่และผู้ผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น" ดร.กิตติพงษ์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit