อย่างไรก็ตาม การทำเกษตรของไทยในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากมีเพียงร้อยละ 67 เท่านั้นที่ ทำการเกษตรได้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้การทำเกษตรมีประสิทธิภาพสูงสุดเห็นควรมีการปฏิรูปตามแนวทางเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำการเกษตร เพื่อยกระดับและมูลค่าให้สินค้าเกษตร รวมทั้งเพิ่มโอกาสการแข่งขัน เกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่มีหลักการดำเนินงานแบบ Area Based ซึ่งครอบคลุมประเด็นหลักด้านการเพิ่มมูลค่าใน Value Chain ให้กับต้นน้ำหรือเกษตรกร การพัฒนาสหกรณ์การเกษตรโดยเฉพาะการบริหารจัดการ การตลาดและการบัญชี การนำความต้องการของตลาดมาขับเคลื่อน ต้นน้ำ (demand driven) การส่งเสริมสินค้าเกษตรสร้างรายได้เร็ว สร้างมาตรฐานGAP และขับเคลื่อนผ่านคณะทำงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ
นายสัตวแพทย์ไพโรจน์ เฮแสงชัย รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์และบริษัทแดรี่โฮม จำกัด ร่วมมือกันในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมอินทรีย์ แปลงใหญ่ประชารัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคนมอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ลดต้นทุนการผลิต แก้ปัญหาด้านการผลิต การตลาด รวมทั้งรายได้ของเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายให้ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มโคนมอินทรีย์ของกรมปศุสัตว์ จำนวน 170 ราย ภายใน 5 ปี โดยกำหนดเป้าหมายในพื้นที่ดำเนินการจังหวัดนครราชสีมา ในเขตอำเภอปากช่อง สีคิ้ว ขามทะเลสอ สูงเนินและ ปักธงชัย ทั้งนี้ เกษตรกรจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มโคนมอินทรีย์ จำนวน 170 ราย ภายใน 5 ปี คือ ปีงบประมาณ 2560-2564 ซึ่ง กรมปศุสัตว์และบริษัทแดรี่โฮม จำกัด จะให้คำแนะนำการเลี้ยง การจัดการด้านอาหารสัตว์ การดูแลสุขภาพสัตว์ การผสมเทียม ขึ้นทะเบียนและทำเครื่องหมายประจำตัวโคโดยกำหนดการตรวจเยี่ยมติดตามปีละ 4 ครั้งเพื่อเป็นหลักประกันความสำเร็จของโครงการ และจะร่วมกันประเมินผลโครงการในภาพรวม และสรุปรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมอินทรีย์แปลงใหญ่ประชารัฐทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไข ปรับปรุงโครงการและขยายผลการดำเนินงานโครงการฯ ในระยะต่อไป
โครงการดังกล่าวนี้ จะส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีรายได้จากการผลิตน้ำนมอินทรีย์อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตผลเกษตรอินทรีย์อื่นๆสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งผลตอบแทนที่ได้มีความคุ้มค่าและจูงใจให้เกษตรกรเลี้ยงโคนมอินทรีย์เป็นอาชีพหลักผสมผสานกับอาชีพเกษตรกรรมอื่นๆ เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้เลี้ยงโคนมที่อยู่ใกล้เคียงแล้ว ยังสร้างความมั่นคงทางอาหารด้านโคนมอินทรีย์ผลิตน้ำนมโคอินทรีย์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาสู่การเลี้ยงโคนมอินทรีย์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในฟาร์มและพื้นที่ใกล้เคียงดีขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลโคปรับปรุงคุณภาพดินสำหรับเพาะปลูกพืชอื่นๆ ได้ ลดต้นทุนค่าปุ๋ย และมีผลผลิตจากพืชอื่นเพิ่มขึ้น รวมทั้ง สร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม อินทรีย์เครือข่ายและธุรกิจสหกรณ์โคนม เชื่อมโยงมูลค่าตลอดห่วงโซ่การผลิต (Value Chain) โคนมอินทรีย์ทั้งระบบ ลดปัญหามลพิษที่เกิดจากการเลี้ยงโคนมแบบทั่วไป มาเป็นการเลี้ยงโคนมอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างอาชีพการปลูกพืชอาหารสัตว์และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร ลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดสัตว์จากการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าออกฟาร์ม เพื่อผลิตปุ๋ยมูลสัตว์ (ปุ๋ยอินทรีย์) ใช้กับพืชเศรษฐกิจแบบอินทรีย์ เป็นการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มพืชเศรษฐกิจอื่นในรูปผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษ เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ซึ่งมีความยั่งยืนกว่าการเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว