การเตือนภัยล่วงหน้าจะมีความถูกต้อง ชัดเจน ทันเวลาหรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับข้อมูลสารสนเทศที่ใช้ในการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์เป็นสำคัญ ข้อมูลดังกล่าวเกือบทั้งหมดมีหลากหลายหน่วยงานเป็นเจ้าของข้อมูลและบางข้อมูลมีลักษณะอยู่ในชั้นของความลับหรือเกี่ยวกับความมั่นคง การใช้ข้อมูลดังกล่าวจึงต้องมีความระมัดระวัง และรอบคอบ ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานเจ้าของข้อมูลเป็นอย่างดี แม้ว่าหน่วยงานเจ้าของข้อมูลอาจต้องมีภาระในการบูรณาการข้อมูลเหล่านั้นกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติก็ตาม ข้อมูลบางประเภทสามารถส่งหรือแลกเปลี่ยนได้ทันที บางข้อมูลมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่ได้ตกลงกันแล้ว และบางข้อมูลมีข้อจำกัดโดยธรรมชาติของข้อมูลเองที่ต้องมีข้อตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร
"ดังนั้น การจัดให้มีการลงนามข้อตกลงฯ ครั้งนี้ จึงเป็นกระบวนการหนึ่งในการบูรณาการข้อมูลเพื่อการเตือนภัยล่วงหน้าที่มีความสำคัญในบริบทของการบริหารการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และสอดคล้องกับกรอบความคิดข้อตกลงเฮียวโกะ และข้อตกลงเซนได ซึ่งเป็นข้อตกลงระดับสากล โดยที่ผ่านมาศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานมาอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้จึงได้มีการลงนามข้อตกลงเพิ่มเติมกับกรมที่ดิน และสถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์ และในโอกาสต่อไปจะได้มีการลงนามร่วมกับกรมสรรพกำลังกลาโหมด้วย นับเป็นเรื่องดีที่การบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศด้านการเตือนภัยจะเป็นระบบที่จะประกันประสิทธิภาพของการแลกเปลี่ยนข้อมูล และจะเป็นการสนับสนุนงานด้านเตือนภัยล่วงหน้าของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความเสี่ยงของสิ่งแวดล้อมอีกต่อหนึ่งด้วย" น.อ.สมศักดิ์ กล่าว
โดยผู้ร่วมลงนามข้อตกลงฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วย นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงไอซีที นายสุจิต จงประเสริฐ รองอธิบดีกรมที่ดิน และ รศ.ดร.พีรยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล คณบดี คณะวิศวกรรมการศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งมีผู้บริหารที่เกี่ยวข้องของทั้ง 3 หน่วยงานร่วมลงนามเป็นพยาน ได้แก่ นายชยสาร โทณานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ นายชาลี ชื่นอุทัย ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมที่ดิน และ รศ.ดร.มงคล รักษาพัชรวงศ์ ผู้อำนวยการสถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit