นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ โฆษกกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า จากข้อมูลในวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พบว่านักวิชาการ นักวิจัย ให้ความสนใจสมุนไพรไพรฟ้าทะลายโจรกันมาก ในการร่วมกันพัฒนาต่อยอดสมุนไพรสู่การใช้ประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ หลังพบว่ารักษากลุ่มอาการหวัด เจ็บคอได้ผลดี และถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2549 โดยมีข้อบ่งชี้ว่าสามารถบรรเทาอาการเจ็บคอ และอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล ซึ่งโรงพยาบาลสามารถสั่งจ่ายเสริมการรักษาร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้
จะเห็นว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เป็นพืชที่มีประวัติการใช้ทางการแพทย์มายาวนานหลายศตวรรษ โดยเฉพาะในแถบเอเชียใต้ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเซียตะวันออก ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้การยอมรับและมีการใช้กันแพร่หลาย ไปยังประเทศซีกโลกตะวันตกอื่นๆ แล้วทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ในคนที่เป็นหวัดบ่อยๆ มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ได้ผลดีต่อโรคหวัดมาก โดยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส เพิ่มภูมิต้านทาน ลดไข้และลดการอักเสบ ลดอาการเจ็บคอ แสบคอได้ดี
ที่ผ่านมา มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของฟ้าทะลายโจรพบว่า สารสำคัญคือสาร Andrographolide และอนุพันธ์ของสารนี้ มีฤทธิ์ ลดการบีบตัวของลำไส้ ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย ช่วยรักษาอาการไอ เจ็บคอ ป้องกันและบรรเทาหวัด และสร้างภูมิต้านทานได้อย่างดี ซึ่งการนำไปใช้ประโยชน์มีทั้งแบบการพึ่งตนเอง โดยการปลูกใส่กระถางไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน ปลูกง่าย ทั้งนี้ฟ้าทะลายโจรจะมีสารสำคัญสามารถนำมาใช้ได้คือ ช่วงที่มีการออกดอกจนถึงดอกบาน 50% หากมีการนำมาใช้ให้ตัดต้นเหนือดินประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีตอเหลือไว้สำหรับการแตกยอดต่อไป ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้อีกช่วง 2-3 เดือนต่อไป วิธีใช้สามารถนำใบสดหรือแห้งประมาณ 5-6 ใบ ชงด้วยน้ำเดือด 1 แก้ว ปิดฝาทิ้งไว้จนยาอุ่น รินน้ำดื่มครั้งละ 1 แก้ว ก่อนอาหาร ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือใช้ฟ้าทะลายโจรทั้งต้น 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 4 แก้ว ดื่มครั้งละ 1 แก้วหลังอาหาร วันละ 3 ครั้งเช่นกัน ปัจจุบันมีการผลิตในรูปของยาแคปซูล รับประทานง่ายขึ้น ขนาดรับประทานวันละ 3-6 กรัม แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หลัง อาหารและก่อนนอน เพื่อบรรเทาอาการ
อย่างไรก็ตาม ยาทุกชนิดมีข้อควรระวังในการใช้ทั้งสิ้น ควรหลีกเลี่ยงในสตรีมีครรภ์และผู้ที่เคยแพ้ยามาก่อน หากใช้ติดต่อกัน 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างการใช้ยา ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์