นายวีระ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้จัดทำเนียบคณะนักแสดงพื้นบ้าน ได้แก่ ขับซอ, หมอลำ, โนรา,ลิเก อุปรากรจีน (งิ้ว) เพื่อแสดงข้อมูลรายละเอียดของคณะนักแสดงนั้น ๆ อย่างครบถ้วน อาทิ ที่อยู่ รายนามคณะนักแสดง อัตราค่าจ้าง รางวัลที่เคยได้รับ และขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลทำเนียบนักแสดงพื้นบ้านในแขนงอื่นเพิ่มเติมอีกในปี 2559 เพื่อเผยแพร่ไปยังหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนจัดทำเว็บไซต์ให้ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต ที่สำคัญ สวธ.มีแผนที่จัดงานมหกรรมการแสดงพื้นบ้านขึ้นในส่วนภูมิภาค 4 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดหนองคาย จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดภูเก็ต เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาสนใจการแสดงพื้นบ้านมากขึ้น รวมทั้งจัดประกวดดนตรีพื้นบ้านสำหรับนักเรียนและนักศึกษา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาที่สนใจได้ฝึกฝน
นายวีระ กล่าวอีกว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะสมาคมลิเกประเทศไทย ซึ่งเป็นการจัดตั้งและรวมตัวเป็นสมาคมขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เข้าพบและหารือถึงแนวทางการส่งเสริมการแสดงลิเก การถ่ายทอดองค์ความรู้ การสืบทอดการแสดงลิเก รวมถึงแนวทางสนับสนุนศิลปินพื้นบ้านให้มีรายได้ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบในรูปแบบสมาคม ซึ่งได้แสดงความยินดีกับสมาคมลิเกประเทศไทยที่สามารถรวมตัวจัดตั้งเป็นสมาคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งและร่วมมือกันสืบทอดการแสดงพื้นบ้าน การส่งเสริมให้ศิลปินพื้นบ้านแขนงต่าง ๆ รวมตัวและจัดตั้งเป็นสมาคม เพื่อให้หน่วยงานรัฐและภาคเอกชน สามารถจัดสรรงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือศิลปินและสนับสนุนได้ ที่สำคัญตรวจสอบได้
นอกจากคณะสมาคมลิเกประเทศไทย ซึ่งมีนายเด่นชัย เอนกลาภ เป็นนายกสมาคม ขณะนี้ศิลปินพื้นบ้านแขนงต่างๆ ที่ได้รวมตัวเป็นสมาคมแล้ว ได้แก่ สมาคมปี่ซอล้านนา โดยมีนางบัวชุม จันทร์ทิพย์ เป็นนายกสมาคม ส่วนการแสดงโนรานั้น ขณะนี้คณะนักแสดงโนรา ได้รวมกลุ่มเป็นชมรมก่อนและจะดำเนินการจัดตั้งสมาพันธ์โนราแห่งประเทศไทยต่อไป ส่วนหมอลำ ได้รวมตัวเป็นชมรมหมอลำเช่นกัน คือ "ชมรมประชานุกูลร่วมใจ" มีนางฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ เป็นประธานชมรม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit