งานคอนเสิร์ตการกุศล... เมื่อดอกซากุระบาน

24 Feb 2016
ในยามเย็นต้นเดือนมกราคม 2559 งานคอนเสิร์ต เมื่อดอกซากุระบาน สร้างความสุนทรีย์และร้อยเรียงมิตรภาพอันงดงามระหว่างไทย-ญี่ปุ่น จัดโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ "วงไหมไทยทรีโอ" อำนวยการแสดงโดย อ.ดนู ฮันตระกูลพร้อมด้วย 4 นักร้องรับเชิญ และกำกับเวทีโดย อ.โสฬส ปุณกะบุตร ณ หอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ ถนนฉลองกรุง
งานคอนเสิร์ตการกุศล... เมื่อดอกซากุระบาน

บรรยากาศงานเบิกบานด้วยมิตรภาพของผู้จัด แขกผู้มีเกียรติและผู้รักดนตรี ทั้งรำลึกถึงมิตรภาพกว่า 55ปี ของความร่วมมือของรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นได้ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาจนมาเป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในทุกวันนี้ เปรียบเสมือนการร่วมกันปลูกต้นซากุระลงบน ณ ที่แห่งนี้ เจริญเติบโตแตกกิ่งงานสาขางามสพรั่ง ออกดอกเบ่งบานให้สาธารณชนได้ชื่นชมกัน จนมาถึงวันนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เปิดสอนหลักสูตรใหม่ในสาขาวิชาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม(Music Engineering and Multimedia) ซึ่งถือเป็นซากุระกิ่งใหม่ในวงการวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศไทยที่จะเจริญเติบโตและออกดอกให้สาธารณชนได้ชื่นชมกันในเร็ววันนี้

ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน ประธานหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.กล่าวว่า งานคอนเสิร์ตในวันนี้ทางสถาบันฯ ได้รับเกียรติอย่างยิ่งจาก อ.ดนู ฮันตระกูล และวงไหมไทย ซึ่งได้ตระหนักถึงความสำคัญของสาขาวิชาใหม่แขนงนี้กับวงการอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศไทย โดยได้จัดงานแสดงคอนเสิร์ตขึ้นเพื่อนำรายได้สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ต้องการเข้ามาศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม ต้นไม้จะเจริญงอกงามเพราะได้ปุ๋ยได้น้ำฉันใด การศึกษาของประเทศไทยจะเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ถ้าได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนฉันนั้น ในบ้านเมืองเรา ณ ยาม นี้ เรื่องของดนตรีอาจไม่ใช่ประเด็นหลักหรือสำคัญที่สุดในการสร้างชาติ แต่ดนตรีก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยพัฒนาคนในชาติให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีคุณภาพ และเมื่อมนุษย์มีจิตใจที่สมบูรณ์ดีงาม เขาเหล่านั้นก็จะช่วยกันสร้างชาติให้สวยงาม น่าอยู่ เพื่อส่งต่อให้กับรุ่นลูก รุ่นหลานต่อไป

อ.ดนู ฮันตระกูล ผู้จัดการแสดงและอาจารย์พิเศษ ผู้มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ดนตรีให้คนรุ่นใหม๋ที่วิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.กล่าวไว้ในสูจิบัตร "ผมเคยศึกษาเรื่องราวของบทกวีไฮกุ อันเป็นวรรณศิลป์เก่าแก่ของคนญี่ปุ่น บทกวีที่ผมได้อ่านนั้นเป็นสำนวนแปลภาษาอังกฤษ ซึ่งช่วยให้ผมได้อาศัยเรียนรู้ว่าผู้คนชนชาตินี้เขาคิดอะไร เขารู้สึกกับอะไร โลกทัศน์ของเขาแตกต่างจากของเราอย่างไร บ้านเมืองเขาอยู่ในเขตหนาว บ้านเมืองเราอยู่ในเขตอบอุ่น ชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของคนต่างถิ่นที่ย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมดา แต่คนไทยกับคนญี่ปุ่นมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือการนับถือศาสนาพุทธ พูดกันว่าคนที่ถือสรณะเดียวกันนั้นจะพูดจะจาในสิ่งอันพิสดารอย่างไรก็สามารถสื่อกันได้ ไม่แปลก เรื่องนี้ดูๆ ไปน่าจะจริง

เมื่อหลายปีก่อนผมมีโอกาสนำดนตรีไปแสดงที่เมืองโตเกียว ได้เห็นบ้านเมืองเขาเป็นครั้งแรก ได้พบปะพูดคุยและได้ร่วมงานกับคนญี่ปุ่นจนเสร็จสิ้นภารกิจ เมื่อถึงเวลาจากลาก็รู้สึกอาลัย นึกถึงงานเขียนเชิงนิราศ ทั้งงานดนตรีและวรรณกรรมที่มีผู้นิยมแต่งขึ้นให้คนทั้งหลายได้ฟังได้อ่าน ก็คิดว่าน่าจะลองมือดูบ้าง หากทำไม่เป็น ฟังไม่ได้ ก็ไม่ต้องเอาไปเล่นให้ใครฟัง แต่หากฟังเข้าท่า ก็ต้องหมั่นโปรโมท อย่าได้เหนียมอายไปเลย

โลกหมุนไปหลายพันรอบ เมืองไทยกับเมืองญี่ปุ่นก็ยังตั้งอยู่ที่เดิม ไม่ใกล้ไม่ไกลไปจากกัน ถึงทุกวันนี้ ผมก็ยังประทับใจและอาลัยเพื่อนใหม่ในต่างแดนไม่คลาย