วธ.ยกตลาดวัฒนธรรม เสมือนห้องแลป บริหารเสน่ห์วัฒนธรรม เผยแพร่มรดกทางภูมิปัญญาไทยที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน

24 Feb 2016
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในการเสวนา "แนวทางการจัดตลาดวัฒนธรรม"ที่ห้องแถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล เป็นการเปิดพื้นที่ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีมีดำริให้หน่วยงานต่างๆ นำผลิตภัณฑ์และบริการของคนไทยในด้านต่างๆ เปิดพื้นที่การค้าขายสาหรับเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย เชื่อมโยงตลาดจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรง ส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย และสร้างรายได้ให้ประชาชนตามนโยบาย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยให้ส่วนราชการหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละช่วงเวลา ซึ่ง วธ.ได้กำหนดจัดงานตลาดวัฒนธรรม :ทุนวัฒนธรรมสร้างชาติ ตลาดวัฒนธรรมสร้างสุข โดยดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ไปจนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 โดยนำผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมสร้างสรรค์จากทั่วประเทศ ผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน ผลงานของนักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลปและวิทยาลัยช่างศิลปมาจัดจำหน่วย สินค้าทางวัฒนธรรมจากช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม ของฝากไทย และสีไทยโทน มาจัดให้ได้เลือกชม ชิม ช็อป อีกด้วย

ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวต่อว่า การพลิกโฉมพื้นที่ข้างทำเนียบรัฐบาลให้เป็นตลาดวัฒนธรรมนั้น นอกจากจะได้รับความสนใจจากประชาชนในการเลือกซื้อสินค้าแล้วยังได้ชมบรรยากาศทางศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งถือเป็นการบริหารเสน่ห์ทั้งเรื่องการแสดง เรื่องเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอีกด้วย โดยการเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นางสาวเรณู ตังคจิวังกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองมาให้แนวคิดและความเป็นมาการจัดตลาดคลองผดุงกรุงเกษม รวมถึงได้เชิญหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จ มาร่วมเสวนา ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข , ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม , ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ , ผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มาถ่ายทอดความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ให้กับวัฒนธรรมจังหวัดและผู้นำชุมชนต้นแบบเพื่อให้ตลาดมีความยั่งยืน ดังนั้น ตลาดคลองผดุงกรุงเกษมจึงเหมือนกับห้องแลปที่สามารถนำมาทดลองว่าแต่ละกระทรวงจะมีการบริหารเสน่ห์ของตนเองอย่างไร เพื่อเพิ่มมิติที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวในชุมชนมากยิ่งขึ้น การลงพื้นที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ไปเห็นการจัดตลาดจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้กลับไปประยุกต์ใช้ในจังหวัดและพื้นที่ของชุมชนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การจัดเสวนา "แนวทางการจัดตลาดวัฒนธรรม" ครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดความสำเร็จในหลากหลายมิติจากหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จให้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีแนวทางในการจัดตลาดวัฒนธรรมให้มีเสน่ห์และมีความยั่งยืน เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและเผยแพร่มรดกทางภูมิปัญญาไทยที่มีคุณภาพมาตรฐานไปสู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศต่อไป