สำหรับการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งเพิ่มเติมจากเดิมที่ครอบคลุม 47 อำเภอ 21 ตำบล 1,902 หมู่บ้าน เพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอีก 10 อำเภอ 62 ตำบล 659 หมู่บ้าน ซึ่งนอกจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งทั้ง 8 มาตรการที่กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินการไปแล้ว ยังเร่งเดินหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยการจัดหาน้ำเข้าไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในพื้นที่ และจะมีการหารือเรื่องการขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติมด้วย
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,968,000 ไร่ มีแนวโน้มทรงตัว ปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 520,000 ไร่ เหลือพื้นที่ที่ยังรอการเก็บเกี่ยวอีกประมาณ 1,450,000 ไร่ ซึ่งน้อยกว่าปี 2557/58 ที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ได้นำมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล มารณรงค์ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ ส่วนผลการจ้างแรงงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ ล่าสุด (ณ 26 ก.พ. 59) กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจ้างแรงงานไปแล้ว จำนวน 112,748 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 2,078.41 ล้านบาท จำแนกตามลุ่มน้ำได้ ดังนี้ 1. ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 26,327 คน 2. ลุ่มน้ำแม่กลอง 9,280 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 77,141 คน
อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทุกกิจกรรมการใช้น้ำ ให้ร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะคนเมืองหลวงและปริมณฑล ต้องตระหนักถึงการประหยัดน้ำให้มาก เนื่องจากภาคการเกษตรส่วนใหญ่ได้เสียสละงดการใช้น้ำเพื่อการทำนาปรังแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ ตลอดจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ นายสุรพล กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit