นายวีระ โรจน์พจนรัตน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลัง
การประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ เรื่อง
การสำรวจกู้แหล่ง
โบราณคดีใต้น้ำ (Alternative Solution and Extended Frontier) ที่
จังหวัดระยอง เมื่อเร็วๆนี้ ว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดย
กรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมความร่วมมือด้านโบราณคดีใต้น้ำในกลุ่มประเทศอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ เรื่อง การสำรวจกู้แหล่งโบราณคดีใต้น้ำ และร่วมกับดร.รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการศูนย์โบราณคดี และวิจิตรศิลป์ (สปาฟา) องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) จัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง โบราณคดีใต้น้ำกับความร่วมมือในอาเซียน โดยมีนักโบราณคดีใต้น้ำในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 20 คน เข้าร่วมการประชุม เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ ในเรื่องของเทคนิค วิธีการขุดค้นด้วยการใช้เครื่องมือ – อุปกรณ์ต่างๆ ในการปฏิบัติงานจริง ให้แก่ผู้เข้าอบรมจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานและใช้เครื่องมือขุดค้นแหล่งโบราณคดีใต้น้ำด้วยวิธีการดังกล่าว โดยเลือกแหล่งเรือจมมันนอก ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งในปี 2551 ได้เคยสำรวจและศึกษาสภาพทั่วไปมาแล้วครั้งหนึ่ง เป็นสถานที่ประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยจะดำเนินการสำรวจขุดค้นบริเวณท้ายเรือ เพื่อเก็บข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา วิจัย ค้นคว้าองค์ความรู้วิชาการด้านโบราณคดี และประวัติศาสตร์พาณิชนาวีสมัยโบราณในภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายโบราณคดีใต้น้ำในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยให้องค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนในระดับภูมิภาคอาเซียนได้มีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลเฝ้าระวัง แจ้งเหตุการค้นพบแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ในการสร้างความเข้มแข็ง ความร่วมมือในการรักษาแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในระดับภูมิภาคอาเซียนต่อไป
นายวีระ กล่าวต่อว่า กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร เป็นศูนย์ปฏิบัติการโบราณคดีใต้น้ำแห่งภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมบุคลากร และมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เช่น บ่อฝึกดำน้ำลึก 20 เมตร ที่จังหวัดจันทบุรี ที่ใช้ในการฝึกดำน้ำของนักโบราณคดีใต้น้ำ อีกทั้งยังมีบุคลากรจำนวน 17 อัตรา ซึ่งมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนด้วย อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานจากกรมศิลปากรว่า ยังขาดแคลนบุคลากรอีกจำนวน 2 อัตรา เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินกล่าวได้คล่องตัวมากขึ้น โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำเนินงานของกองโบราณคดีใต้น้ำคือการพัฒนาบุคลากร ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการส่งนักโบราณคดีใต้น้ำไปฝึกอบรมการปฏิบัติการยังประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านโบราณคดีใต้น้ำ อย่างเช่นประเทศเดนมาร์ก เพี่อนำความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดการปฏิบัติการโบราณคดีใต้น้ำของไทย และภูมิภาคอาเซียนต่อไป