กระทรวงเกษตรฯ รับหนังสือจากชาวประมงอวนรุน เผยเร่งติดตามมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและเงินเยียวยาเบื้องต้น พร้อมหารือร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หวังแก้ปัญหาประมงอย่างจริงจัง

02 Mar 2016
นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้เรือประมงอวนรุนที่มีทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ และอาชญาบัตรทำการประมงถูกต้องตามกฎหมายได้รับผลกระทบ จึงเข้ามายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว มี 3 เรื่องด้วยกัน คือ

การเร่งรัดให้ความช่วยเหลือเงินเยียวยาแก่กลุ่มอวนรุนที่มีใบอนุญาตถูกต้อง ตามมติครม. ที่จะชดเชยให้เป็นเวลา 53 วัน นั้น มีชาวประมงบางส่วนยังไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าวประมาณ 100 กว่าลำ จากการหารือได้ข้อสรุปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งรัดติดตามความคืบหน้าจากทหารเรือ คาดว่าจะจ่ายเงินชดเชยในส่วนที่เหลือได้ภายใน ก.พ. นี้

การแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องมือการทำประมง ได้ข้อสรุปว่า ธนาคารออมสิน เป็นแหล่งสนับสนุนเงินทุน พบว่าเงินที่ใช้สนับสนุนในช่วงแรกเป็นส่วนมี่สนับสนุนธุรกิจ SME ซึ่งมีจำกัด เตรียมเสนอเรื่องเข้าบอร์ดของธนาคารในการขออนุมัติวงเงินช่วยเหลือชาวประมงกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ภายใน มี.ค. คาดว่าภายในเดือนเม.ย. จะสามารถเสนอเข้าครม. เพื่อขอความเห็นชอบขออนุมัติวงเพิ่มอีก 500 ลบ. โดยหลักเกณฑ์ที่ชาวประมงแต่ละรายเสนอ คือชดเชยรายละประมาณ 2 ล้านกว่าบาท

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักบริหารกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.) มีกองทุนฯ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรส่วนหนึ่ง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างหารือว่าสามารถยืมเงินกองทุนฯมาช่วยเหลือในเบื้องต้นได้หรือไม่ จนกว่าจะได้รับเงินกู้จากธนาคารออมสิน ความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการรับซื้อเรือของรัฐบาลออกจากระบบ เนื่องจากชาวประมงอวนรุนบางส่วนต้องการเลิกอาชีพประมงไปประกอบอาชีพอื่น ได้ข้อสรุปว่า มติครม.มีมติเห็นชอบซื้อเรือประมงอวนรุนที่ถูกต้องในราคาร้อยละ 50 ของราคาประเมินที่ คณะกรรมการประเมินราคาเรือที่เหมาะสมในการซื้อขายเรือ โดยการรับซื้อเรือดังกล่าวจะต้องรวบรวมเงินทุนบางส่วนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกรมประมง โอนให้ทหารเรือเป็นฝ่ายบริหารจัดการ ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลางเพื่อร่างหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินที่เกี่ยวข้องต่อไป

"ทั้งนี้ การหารือดังกล่าวถือเป็นที่น่าพอใจ เพราะมาตรการที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น สามารถช่วยให้ดำรงชีพผ่านพ้นช่วงรอความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ในระยะ 1 เดือนไปได้ ส่วนเงินกู้ในการปรับเปลี่ยนเครื่องมือจะเร่งดำเนินการให้ได้รับเงินช่วยเหลือบางส่วนก่อน ในระหว่างรอรับความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากธนาคารออมสิน ซึ่งจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้" นางจินตนา กล่าว