การสร้างความร่วมมือระหว่างภูมิภาคอาเซียนเพื่อหยุดอาชญากรรมสัตว์ป่า

02 Mar 2016
สำนักเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน กรุงจาการ์ตา / 25 กุมภาพันธ์ 2559 - ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายสัตว์และพันธุ์พืชแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียนเว็นลีโอ : ASEAN-WEN LEEO) เดินทางไปเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ พี โอ แรม (Hon.P.O. Ram) เลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ณ สำนักเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองหน่วยงาน พร้อมหารือเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือระหว่างภูมิภาคอาเซียนเพื่อหยุดยั้งอาชญากรรมสัตว์ป่า
การสร้างความร่วมมือระหว่างภูมิภาคอาเซียนเพื่อหยุดอาชญากรรมสัตว์ป่า

ในแต่ละปีมีการลักลอบขนส่งสัตว์ป่าและพืชป่าข้ามประเทศมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทำเป็นขบวนการเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งเชื่อมโยงการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อล่า ลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฏหมาย เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อีกทั้งยังมีการจัดการและเชื่อมโยงระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ค้าสิ่งผิดกฎหมายใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ในการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อประกอบธุรกิจตามแนวชายแดน รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายที่ไม่เข้มงวด ทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นจุดที่มีการรุกล้ำ ลักลอบขนส่งและบริโภคสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าจำนวนมากขึ้นอย่างน่าตกใจ

ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกอาเซียนยังให้ความสำคัญด้านกฎหมายสัตว์ป่าและพืชป่าค่อนข้างน้อย ทั้งที่จริงแล้ว ปัญหาอาชญากรรมสัตว์ป่าและพืชป่ากำลังเป็นประเด็นที่นานาประเทศมีความกังวล และแสวงหาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา เพราะประชาคมโลกต่างตระหนักดีว่าผลกระทบของอาชญากรรมดังกล่าว ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาและหลักนิติธรรมของทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าและพืชป่ามีความเชื่อมโยงกับอาชญากรรมองค์กรอีกหลายชนิด อาทิ การลักลอบค้าอาวุธสงคราม การลักลอบค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด เป็นต้น

การดำเนินการต่างๆ ที่นำโดยสำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายสัตว์และพันธุ์พืชแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียนเว็นลีโอ : ASEAN-WEN LEEO) มีส่วนช่วยเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายในหลายคดี แต่การดำเนินคดีต่างๆ และบทลงโทษยังไม่เพียงพอต่อการยุติกระบวนการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย

สำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายฯ ได้สนับสนุน "วาระนิติบัญญัติสีเขียว" และมีมติให้ประเด็นสัตว์ป่าเป็นส่วนหนึ่งของวาระการประชุม ASEAN Inter-Parliamentary Assembly: AIPA Caucus ซึ่งเป็นการประชุมในกรอบของสมัชชารัฐสภาอาเซียน มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การทำให้มาตรการ ระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดทางกฎหมายของประเทศสมาชิกเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างความสอดคล้องทางกฎหมายของประเทศสมาชิก AIPA และยกระดับการทำงานร่วมกันระหว่าง AIPA กับ ASEAN

ฯพณฯ พี โอ แรม (Hon.P.O. Ram) เลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) กล่าวว่า "หากปราศจากกฎหมายที่เข้มแข็งและเหมาะสม รวมถึงการมีกฎหมายบังคับใช้เฉพาะสำหรับอาชญากรรมสัตว์ป่า เพื่อใช้ในการจัดการกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย หน่วยงานของรัฐจะไม่สามารถปกป้องสัตว์ป่าและระบบนิเวศน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่มีอำนาจในการตรากฎหมายของประเทศต่างๆ ควรจะมีความเข้าใจต่อกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าและอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เพื่อให้สามารถมองเห็นจุดอ่อน ช่องโหว่ และการทับซ้อนกันทางกระบวนการยุติธรรมซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตรากฎหมายที่เหมาะสมหรือการปรับปรุงข้อกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น"

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายสัตว์และพันธุ์พืชแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียนเว็นลีโอ : ASEAN-WEN LEEO) กล่าวว่า "การปรับปรุงกฎหมายสัตว์ป่าและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องถือเป็นความท้าทายอย่างมาก หากสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ จะนำมาซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการหยุดยั้งการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายของอาชญากรรมองค์กร ดังนั้น ผู้มีอำนาจในการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งการเพิ่ม การจัดสรรงบประมาณและการผลักดันประเด็นด้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายให้มีความสำคัญและมีการแก้ไข้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อนำมาประกอบกับความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสามารถดำเนินการร่วมกันเพื่อหยุดการค้าสัตว์ป่าและอาชญากรรมข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

HTML::image( HTML::image(