บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้นำในตลาดซอฟต์แวร์และบริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ (Business Analytics) ด้วยโซลูชั่นเชิงนวัตกรรมที่ให้ลูกค้าในรูปของ Integrated Framework และเทคโนโลยีสำหรับการรวบรวมข้อมูล เดินหน้าสนับสนุนภาคการศึกษา โดยร่วมกับภาควิชาสถิติคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า การสนับสนุนการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีSAS ผ่านโครงการฝึกอบรม SAS Programming 1 : Essential ให้กับนักศึกษาภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญของการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในยุคที่ข้อมูลมีปริมาณมหาศาล และองค์กรต่าง ๆ มีความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ซึ่งเป็นไปตามทิศทางแนวโน้มของโลกในยุคที่องค์กรธุรกิจถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลปริมาณมหาศาล และต้องแข่งขันกันที่บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกในทุก ๆ ธุรกิจ
สำหรับการจัดโครงการฝึกอบรม SAS Programming 1 : Essential ณ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุวาณี สุรเสียงสังข์ หัวหน้าภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้นิสิตได้ให้ความสนใจในการสมัครเข้าร่วมอบรมในโครงการ ฯ เป็นจำนวนมาก
ดร.สุวาณี สุรเสียงสังข์ หัวหน้าภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการอบรม SAS programming 1 : Essential มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะด้านการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาของแซสให้กับนิสิตระดับปริญญาตรี และปริญญาโทของภาควิชา ฯ ผ่านการอบรมระยะเวลา 3 วัน โดยมี อ.ดร.วัชรา จันทาทับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชพงศ์ ตั้งมณี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์มณี รัตนวิชา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์เจ้า มงคลนาวิน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุภาพ สมบูรณ์สวัสดี เป็นคณาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ นิสิตที่เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย นิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 จำนวน 15 คน นิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 จำนวน 45 คน นิสิตปริญญาโท หลักสูตร วท.ม. (เทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ) จำนวน 3 คน และนิสิตปริญญาโท หลักสูตร วท.ม. (ประกันภัย) จำนวน 7 คน รวมทั้งสิ้น 70 คน ซึ่งเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยวิทยากรจาก บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด
ดร.สุวาณี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประโยชน์ที่โครงการ ฯ คาดว่าจะได้รับ คือ นิสิตนักศึกษามีทักษะในการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาของแซส ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของบัณฑิตของภาควิชา ฯ และนิสิตสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปต่อยอดในด้านการจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ต่อไป
HTML::image( HTML::image(