สุขภาพสูญเสีย บ้านเรือนสูญสิ้น: มรดกแห่งเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะ

14 Mar 2016
ผู้รอดชีวิตจากหายนะภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิลยังคงกินอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่เกินกว่าระดับที่ยอมรับได้มาเป็นระยะเวลา 30 ปี หลังเกิดหายนะภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ผลักดันให้ประชาชนหลายร้อยหลายพันคนต้องละทิ้งบ้านและถิ่นฐานของตัวเอง

รายงานของกรีนพีซสากลเรื่อง "รอยแผลนิวเคลียร์: มรดกแห่งเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะที่ยังคงอยู่" ระบุว่าหายนะภัยจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะและเชอร์โนบิลยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนนับล้าน รายงานยังประมวลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ประวัติของผู้รอดชีวิต และผลการวัดระดับรังสีที่สำรวจโดยกรีนพีซ ในญี่ปุ่น ยูเครน และรัสเซีย

"ยังไม่เห็นว่าวิกฤตนี้จะยุติลงสำหรับชุมชนที่ฟุกุชิมะ คนเกือบแสนคนยังไม่สามารถกลับบ้านและคนจำนวนมากที่ไม่มีทางกลับเข้าไปได้" จุนอิชิ ซาโตะ ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซญี่ปุ่นกล่าว "อุตสาหกรรมนิวเคลียร์และรัฐบาลทั่วโลก พยายามชักจูงในทางที่ผิดว่าผู้คนสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติหลังเกิดอุบัติภัยนิวเคลียร์ แต่หลักฐานต่างๆ เปิดเผยให้เห็นว่านี่เป็นเพียงวาทะทางการเมืองไม่ใช่ความจริงทางวิทยาศาสตร์"

ผลการศึกษาของกรีนพีซระบุว่ารัฐบาลได้ลดการป้องกันรังสีทั้งในญี่ปุ่นและในพื้นที่ของประเทศที่มีปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล โครงการติดตามตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมและอาหารถูกตัดลงในพื้นที่เชอร์โนบิล ในขณะที่ญี่ปุ่นต้องการให้คนอพยพออกมาจากบ้านส่วนใหญ่กลับเข้าไปได้ภายในปี 2560 แม้ว่าชุมชนของพวกเขายังมีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีอยู่ กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนทางการเงินอย่างเหมาะสมแก่ผู้ที่รอดชีวิตจากหายนะภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิลและฟุกุชิมะ

ผลการการตรวจสอบรังสีพบว่าพื้นที่ป่ารอบเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะกลายเป็นแหล่งที่มีการสะสมสารกัมมันตรังสี กรีนพีซกล่าวว่าป่าไม้ที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีทำให้ชุมชนใกล้เคียงมีความเสี่ยงจากการสัมผัสหรือเกิดการปนเปื้อนขึ้นใหม่

การสำรวจยังพบว่ามีผลกระทบด้านสุขภาพของคนในชุมชนที่ฟุกุชิมะและเชอร์โนบิล ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนรอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล อัตราการเสียชีวิตของคนสูงกว่า อัตราการเกิดต่ำกว่า การเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น และปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นในวงกว้าง[1] ในฟุกุชิมะ พบการเกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ในเด็กซึ่งไม่อาจลงรายละเอียดได้ทั้งหมดจากการตรวจหาในขอบเขตกว้าง และเกือบหนึ่งในสามของมารดาที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เตาฏิกรณ์ถูกทำลายมีอาการซึมเศร้า[2]

"ชีวิตของคนนับล้านเปลี่ยนแปลงหลังหายนะภัยฟุกุชิมะและเชอร์โนบิล เราไม่ควรลืมความทุกข์ทรมานมหาศาลซึ่งหายนะภัยทั้งสองนี้ยังคงทำให้เกิดขึ้นต่อไปอีก เราจำเป็นต้องเร่งเอาพลังงานนิวเคลียร์ออกไปและมุ่งหน้าสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย มีเพียงระบบพลังงานที่สะอาดและปลอดภัย ที่สามารถตอบสนองความต้องการพลังงานของโลกได้" ฌอน แพทริค สเต็นซิล นักวิเคราะห์อาวุโสด้านพลังงาน จากกรีนพีซ กล่าว

ห้าปีหลังจากหายนะภัยนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ผู้คนกว่าแสนคนยังไม่ได้กลับบ้าน สามสิบปีหลังเหตุการณ์หายนะภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ผู้คนกว่าห้าล้านคนต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนรังสีหมายเหตุ

[1] รายงานกรีนพีซสากล ปี 2558 เรื่อง "รอยแผลนิวเคลียร์: มรดกแห่งเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะที่ยังคงอยู่" บทที่ 3:http://www.greenpeace.org/international/Global/international/publications/nuclear/2016/Nuclear_Scars.pdf

[2] รายงานกรีนพีซสากล ปี 2558 เรื่อง "รอยแผลนิวเคลียร์: มรดกแห่งเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะที่ยังคงอยู่" หน้า 26-27:http://www.greenpeace.org/international/Global/international/publications/nuclear/2016/Nuclear_Scars.pdf