ศ.ดร. ยงยุทธ กล่าวว่า การพัฒนายาโดยการวิจัยแบบเปิด เป็นแนวทางที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และทำให้ประเทศไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมได้ อย่างไรก็ตามแม้ไทยจะไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ด้านนี้ แต่มีข้อดีตรงที่มีบริการการแพทย์ที่มีชื่อเสียง มีการทำการวิจัยระดับคลีนิคที่ดี แต่สิ่งที่ยังขาดคือการวิจัยระดับระดับพื้นฐานและก่อนถึงคลีนิค ซึ่งการวิจัยแบบเปิดจะทำให้สามารถหาผู้ร่วมงานจากต่างประเทศ และพัฒนาความสามารถของเราเองได้
โดยอดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกโครงการพัฒนายาต้านมาลาเรีย ซึ่งเป็นงานที่ตนและกลุ่มนักวิจัยไทยได้ทำมานาน โดยการสนับสนุนของ Medicines for Malaria Venture ซึ่งมีมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์สนับสนุนอยู่ ทีมวิจัยของไทยเป็นผู้นำดำเนินการร่วมกับเครือข่ายจากหลายประเทศ จากระดับพื้นฐานที่เข้าไปศึกษากลไกของการดื้อยา หาโครงสร้างของเป้าหมายยาที่เปลี่ยนไป จนในที่สุดออกแบบและสังเคราะห์ยาที่สามารถต้านมาลาเรียที่ดื้อยาได้ ใช้เวลาเกินสิบปี และบัดนี้ยา P218 กำลังจะทดสอบผลในคนเป็นครั้งแรกกลางปีนี้แล้ว หากได้ผลจะเป็นยาตัวแรกที่คนไทยพัฒนาขึ้นเองตั้งแต่แรก
"ผมเปรียบการทำงานของเรา ต้องพยายามยิงเป้าที่เคลื่อนที่ให้สำเร็จ เป้าหมายของเราคือเอ็นไซม์ที่เรียกว่า DHFR ซึ่งเชื้อมันเปลี่ยนไป ทำให้เกิดอาการดื้อยา" ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า การจัดการประชุมครั้งนี้เป็นตั้งใจจัดเล็กๆ แต่มีความหมายเนื่องจากเป็นการประชุมแบบเฉพาะเจาะจง โดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย ส่วนหนึ่งเพื่อดูความเป็นไปได้ และโอกาสของไทย แต่ปรากฏว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก TCELS จึงมีแผนที่จะจัดอีกในวงกว้างต่อไป