สื่อ และกระบวนการสื่อสารเป็นเครื่องมือหลักของกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่นิสิตกลุ่มนี้เลือกใช้เพื่อถอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชนหนองนาสร้าง และเป็นกลวิธีที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์และสื่อสารสังคม เพื่อการสร้างสรรค์สื่อที่สะท้อนศิลปวัฒนธรรม บอกเล่าประเพณีวิถีชีวิตและภูมิปัญญา ที่เชื่อมโยงบริบทหลายๆส่วนของชุมชน ซึ่งการสร้างกิจกรรมลักษณะนี้ อยู่ในกรอบแนวคิด 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี
กิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วย การถ่ายทำสารคดีเชิงข่าว เรื่องงานบุญประเพณีผะเหวด บทบาทของงานบุญที่มีต่อชุมชน ด้วยรูปแบบรายการสัมภาษณ์ปราชญ์ชุมชน คือ พ่อใหญ่สมัย พลแดง อดีตผู้ใหญ่บ้าน ผู้เป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน เป็นที่สนใจของคนในหมู่บ้าน ทำให้คนในหมูบ้านหันมาสนใจกิจกรรมนี้ ซึ่งนิสิตมีโอกาสฝึกปฏิบัติการถ่ายทำสารคดี สัมภาษณ์คนต้นเรื่อง เจอสถานการณ์จริง ในขณะที่ปราชญ์ชาวบ้านเองก็มีช่องทางถ่ายทอดหลักคิดที่ดีให้กับคนในชุมชน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเรียนรู้ผ่านฐานกิจกรรม กิจกรรมการจัดรายการหอกระจายข่าว เป็นต้น โดยเรื่องราว เนื้อหาล้วนเกี่ยวข้องกับชุมชนหนองนาสร้างแห่งนี้ทั้งสิ้น เช่นการร้องสรภัญญะ การทำขนมข้าวต้ม การบีบเส้นขนมจีน การทำขนมเทียนโบราณ และการตีมีด เป็นต้น
นายจิรเมธ พุทธโค นิสิตนิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ผู้รับผิดชองโครงการฯนี้ กล่าวว่า "ผมได้นำองค์ความรู้ที่ได้เรียนจากในห้องเรียน มาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริง นำข้อมูลภูมิปัญญาของชุมชนมาสร้างเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนเอง นำแนวคิดของการใช้ "สื่อใหม่" เข้ามากระตุ้นและเชื่อมโยงสมาชิกในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม ทั้งในระดับของการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ภูมิปัญญา และยังเป็นการการสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการสืบสานภูมิปัญญาในชุมชนของตนเองต่อไป"
นายวุฒิธิกรณ์ ประพัศรางค์ นิสิตนิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ผู้รับผิดชอบโครงการอีกคน กล่าวย้ำถึงความรู้สึกว่า "ดีใจ ที่เห็นรอยยิ้มของเด็กๆและคนในชุมชน ที่มีนิสิตนักศึกษาเข้าไปทำกิจกรรมในชุมชน ซึ่งโครงการนำเอาองค์ความรู้ต่างๆที่ได้ศึกษาในห้องเรียนนำไปสู่ชุมชนผ่านการร่วมมือการทำงานระหว่าง ตัวนิสิต ชุมชนที่ศึกษาภูมิปัญญาประเพณีและศิลปวัฒนธรรมและสามารถสะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เป็นการตอกย้ำให้กับคนในชุมชนไม่ให้หลงลืมสิ่งดีๆที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน ซึ่งโครงการนี้ก็เป็นเหมือนวิชาอีกวิชาหนึ่งที่ถ้าอยู่แต่ในมหาวิทยาลัยก็คงไม่ได้สัมผัสความรู้สึกดีๆเหล่านี้ในครั้งนี้เป็นโครงการที่สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ทำร่วมกับชุมชนโดยที่ตัวผมเองได้"
เด็กชายอัษฎาวุธ ประวิโน เยาวชนจากหมู่บ้านหนองนาสร้าง กล่าวถึงการเข้าร่วมกิจกรรมในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ในครั้งนี้ว่า "ได้ทำให้เขากล้าที่จะถามในสิ่งที่ตนเองไม่รู้จากปราชญ์ชาวบ้าน เพราะเขาเองเพิ่งย้ายกลับมาจากกรุงเทพเมื่อ 2 ปีมาแล้ว และยังไม่เคยทำกิจกรรมเหล่านี้มาก่อน นอกจากนั้นการแสดงออกทางความคิดเห็นในคนหมู่มากเวลาที่ทีมพี่เลี้ยงจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้สอบถามความคิดเห็นได้ทำให้เขาเกิดความกล้าที่จะสมัครไปเป็นผู้เล่าประสบการณ์ในการเรียนรู้กิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ผ่านหอกระจายข่าวสารหมู่บ้าน"
จากการดำเนินกิจกรรมหนองนาสร้างบ้านเฮา ของภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคามครั้งนี้ ทำให้เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเกิดการตื่นรู้ เกิดสุขภาวะทางปัญญาสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ มีทัศนคติและความเชื่อในประเด็นสุขภาวะที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นมากขึ้น รวมถึงได้สร้างกลุ่มเด็กและเยาวชนแกนนำท้องถิ่นที่สนใจ อยากทำ ต้องการทำ ลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ให้กับครอบครัว ชุมชน สังคม และเกิดระบบสื่อและกลไกสุขภาวะ ที่ส่งเสริมการพัฒนาเด็กเยาวชนให้เป็นพลเมืองตื่นรู้มากขึ้น
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit