นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หมึกสายวงน้ำเงิน หรือหมึกสายบลูริง (Blue-ringed octopus: Hapalochlaena spp.) มีรายงานพบในประเทศไทยทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แต่พบในปริมาณที่ไม่มากนัก เป็นหมึกสายที่มีขนาดเล็กโดยลักษณะลำตัวจะคล้ายถุงลมท้ายแหลมมีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตรเท่านั้นเอง หมึกสายวงน้ำเงินจะมีลายวงแหวนชนิดเรืองแสงสีฟ้าจางๆ ขนาดเล็กกระจายอยู่บนลำตัวและส่วนหนวด ความยาวของหนวดจะมากกว่าความยาวลำตัว 1.5 – 2.5 เท่า อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเลที่เป็นทราย ในระดับความลึกประมาณ 20-40 เมตร ชอบซ่อนพรางตัวเพื่อหลบเลี่ยงผู้ล่าและซุ่มรอเหยื่อ เวลาเคลื่อนที่จะใช้หนวดเดินโดยไม่มีการพ่นน้ำเพื่อพุ่งในการเคลื่อนที่ หมึกสายวงน้ำเงิน ไม่ใช่สัตว์ที่ดุร้าย เมื่อโดนกระทบกระทั่งหมึกชนิดนี้ก็มักจะพรางตัวโดยการทำตัวให้แบน และเปลี่ยนสีให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม แต่หากรู้สึกว่าถูกคุกคามจนรู้สึกไม่ปลอดภัยไม่ว่าจะพรางตัวอย่างไรแล้วก็จะเปลี่ยนจากการตั้งรับเป็นการจู่โจมกัดพร้อมกับปล่อยพิษได้เสมอ หมึกชนิดนี้มีการผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดวงจรชีวิต โดยเพศเมียจะวางไข่ติดกับวัสดุใต้น้ำ ไข่จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์ ลูกหมึกจะดำรงชีวิตตามหน้าดิน
นายมนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมงชำนาญการ สถานีประมงทะเลจังหวัดระนอง กล่าวเพิ่มเติมว่า
หมึกสายวงน้ำเงินเป็นสัตว์ที่มีพิษแรงมาก พิษของหมึกวงน้ำเงินเป็นพิษชนิดที่มีความรุนแรงมาก สามารถฆ่าคนได้อย่างง่ายดาย โดยพิษของมันจะถูกสร้างโดยแบคทีเรียกลุ่ม Bacillus และ Pseudomonas ที่อาศัยอยู่ในต่อมน้ำลาย (Salivary gland)ปาก หนวด ลำไส้ รวมทั้งต่อมหมึก ประกอบด้วยสารพิษ 2 ชนิด คือ Maculotoxin (มีลักษณะคล้ายคลึงกับ Tetrodotoxin ที่พบในปลาปักเป้า มีพิษต่อระบบประสาท) และHepalotoxin เป็นสารพิษชนิดร้ายแรงไม่มียาแก้พิษ ต้องช่วยในลักษณะเดียวกับปลาปักเป้า นั่นคือช่วยหายใจและรักษาตามอาการ หากพ้น 24 ชั่วโมง ได้อาการจะดีขึ้นตามลำดับ พิษของหมึกชนิดนี้ เกิดจากผลผลิตของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต่อมน้ำลายของมัน ซึ่งสามารถส่งต่อผ่านจากแม่ไปยังลูกๆ ของมันได้อีกด้วย พิษชนิดนี้ออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของระบบประสาท เมื่อถูกปลาหมึกสายวงน้ำเงินกัด ขั้นแรก จะมีอาการคลื่นไส้ ตาพร่าเลือน ขั้นต่อมาจะทำให้มองไม่เห็นและประสาทสัมผัสก็จะไม่ทำงาน ไม่สามารถจะพูดหรือกลืนน้ำลายได้ และขั้นสุดท้ายประมาณ 10 นาทีต่อมา ก็จะเป็นอัมพาตและหยุดหายใจได้เนื่องจากสมองขาดออกซิเจนหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ดังนั้นต้องรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจในระหว่างที่ระบบประสาทยังสามารถทำงานได้ปกติ
นายมีศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับโอกาสที่คนทั่วไปจะโดนหมึกชนิดนี้กัดนั้นน้อยมาก เนื่องจากหมึกชนิดนี้ยังไม่มีการพบว่าเข้ามาแถบหาดทรายชายฝั่งน้ำตื้น อีกทั้งยังไม่มีนิสัยไล่กัดนักดำน้ำ และที่สำคัญทางกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าหมึกสายชนิดนี้ตามบัญชีแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2547 โดยมีประกาศครอบคลุมถึงหอยงวงช้างและปลาหมึกทุกชนิดใน Class Cephalophoda ดังนั้นยิ่งยากที่พวกเราจะมีโอกาสได้ไปสัมผัสกับเจ้าหมึกชนิดนี้นอกเสียจากว่าอาจตกได้กลางทะเลและไม่รู้ว่ามีพิษแล้วอาจไปจับตัวหมึกจนโดนหมึกชนิดนี้กัด โดยปกติหมึกสายวงน้ำเงินหรือหมึกสายอื่นๆ จะไม่สามารถจับได้โดยการตกเหมือนหมึกกล้วย แต่อาจจะจับได้โดยการใช้เครื่องมืออวนลาก หรือลอบหมึกสาย ซึ่งชาวประมงกลุ่มนี้ต้องระมัดระวังหมึกชนิดดังกล่าวเป็นพิเศษ สำหรับในประเทศไทยนั้นยังไม่มีข้อมูลผู้ถูกหมึกสายชนิดนี้กัด
สุดท้ายนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภครวมถึงพ่อค้า แม่ค้า จึงขอเตือนให้ทุกท่านเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกซื้อหมึกมารับประทาน โดยให้สังเกตลักษณะภายนอกของหมึกก่อนที่จะเลือกซื้ออย่างละเอียด หากท่านใดพบเห็นหมึกชนิดนี้ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสและห้ามนำมารับประทานโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งรีบแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดใกล้บ้านเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบโดยเร็ว หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมประมง โทร. 02 562 0600
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit