"ทีมพระสุเมรุ" ถือว่าเป็นกลุ่มแกนนำเยาวชนในเครือข่ายของมูลนิธิสยามกัมมาจล เป็นการรวมกลุ่มเยาวชนผู้รักดนตรี BBOY กลุ่มแรกๆ ของประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 16 ปี ทาง "ทีมพระสุเมรุ" ได้เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เยาวชนผู้รักการเต้น ได้แสดงออกและพัฒนาศักยภาพด้านการเต้น เป็นการหนุนพลังด้านบวก ลดพฤติกรรมเสี่ยงให้แก่เยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง นายบุญประเสริฐ ศาลางาม หรือที่รู้จักกันนาม "โอมาน" ในฐานะหัวหน้าทีมเล่าว่า การแข่งขันครั้งนี้ได้รับความสนใจจากเยาวชนทั่วประเทศเกินคาด จากวางไว้ 32 ทีม มีผู้เข้าแข่งขันถึง 64 ทีมด้วยกัน "โอมาน" ในฐานะที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการบีบอย "โอมาน" การันตีว่าฝีมือของเด็กไทยก็ไม่น้อยหน้าชาวยุโรปแต่กลับไม่ได้รับการส่งเสริมจากคนไทยเท่าที่ควร "ผมคิดว่าถ้ามีการสนับสนุนการเต้นบีบอยเหมือนกับกีฬาประเภทอื่นๆ จะทำให้เด็กไทยมีความภูมิใจและสามารถทำเป็นอาชีพได้เหมือนกัน การสนับสนุนบีบอยนั้นไม่ต้องใช้งบประมาณเยอะมากแค่สปอนเซอร์ค่าเดินทาง ที่พัก อาหาร ถ้าไปแข่งขันแล้วชนะเลิศสร้างชื่อเสียงให้ประเทศได้ครับ ที่เมืองนอกเวลาเขาจ้างงานบีบอยครั้งละ 7-8 หมื่นเลยทีเดียว การเต้นบีบอยถ้าเก่งก็จะมีโอกาส เหมือนผมได้มีโอกาสเป็นแดนเซอร์ในคอนเสิร์ตพี่เบิร์ด(ธงไชย แมคอินไตย์) ได้เล่นมิวสิควิดีโอ เล่นหนัง เราเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่ง ถ้าเต้นไม่เก่ง ไม่มีความสามารถเราไม่สามารถไปอยู่ตรงนั้นได้ การเต้นบีบอยเป็นการลงทุนที่ถูกมาก แค่รักการเต้น ตรงไหนก็สามารถเต้นได้""
นอกจาก "โอมาน" จะสอนการเต้นบีบอยให้กับน้องๆ ทุกวันจันทร์-พฤหัสฯ แบบฟรีๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ "โอมาน" พร่ำสอนน้องๆ เสมอคือเรื่องการวางตัว การมีสัมมาคารวะ เคารพรุ่นพี่ รุ่นน้อง เห็นได้จากการจัดงานที่ผ่านมา ที่วัยุร่นมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากแต่กลับไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาทให้เห็น "ในสังคมบีบอยทุกคนจะมีสัมมาคารวะมาก แม้ไม่ได้อยู่ทีมเดียวกัน เขาก็จะศึกษาทางยูทูปว่าพี่คนนี้อายุเท่าไร แก่กว่าหรือเปล่า เวลาเจอกันไม่รู้จักกัน เขาก็จะคุยแบบมีสัมมาคารวะ ในสังคมบีบอยใครทำตัวไม่ดี พอไปงานก็จะคนพูดกันแป๊บเดียวก็รู้กันทั่ว สักพักคนนี้ก็จะถูกผลักให้ออกจากกลุ่มไปเลย ในสังคมบีบอยพวกเราจะช่วยสอนน้องๆ ในเรื่องของการใช้ชีวิตและนิสัยด้วยเช่นเวลาไปทำกิจกรรม หรือ ไปงาน ก็จะไม่มีใครกล้าทำอะไรไม่ดี เพราะว่าถ้าทำแล้วคนมองว่าคนนี้แบดบอย นิสัยไม่ดี คนจะจำและจะอยู่ในสังคมนี้ไม่ได้อีกเลย และการที่น้องๆ มารวมกลุ่มกับเพื่อนๆ คนเยอะๆ มีตัวอย่างให้เห็นเยอะ ทั้งตัวอย่างดีและไม่ดี เราก็สามารถสอนเขาได้ ซึ่งเราบอกเสมอ เช่น เต้นที่ไหนก็เต้นได้แต่เรียนต้องเรียนอยู่ที่เดียวให้จบ ก็จะสอนด้วยการใช้ประสบการณ์จากชีวิตจริงของรุ่นพี่นั่นเอง"
สิ่งหนึ่งที่โอมานอยากฝากไว้ว่า อยากให้มองว่าการเต้นบีบอย ก็เหมือนการออกกำลังกายแบบหนึ่ง โดยเฉพาะถ้าหากสามารถผลักดันเข้าสู่ชั้นเรียน เป็นกิจกรรมในช่วงวิชาพละ จะทำให้เด็กๆ ชื่นชอบและได้ฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรงด้วย "ผมว่าบีบอยถ้าอยู่ในห้องเรียน ไปกับวิชาพละจะทำให้เด็กๆ ไม่เบื่อด้วย เพราะเด็กๆ ชอบ และเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับร่างกายด้วย ผมอยากให้ทุกคนมองว่าบีบอยก็คือการออกกำลังกายแบบหนึ่ง และอยากให้มีการส่งเสริมตรงนี้ เพราะบีบอยไม่ได้แค่ความสนุก แต่ยังทำให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย"
ภาพของนักเต้นบีบอยมักถูกมองด้านลบเสมอ แต่สำหรับ "ซีซ่า" นายธีรปกรณ์ ศรีบาลแจ่ม อายุ 30 ปี ที่เพิ่งเรียนจบปริญญาโท ที่ม.ศิลปากร ซึ่งเป็นสมาชิกทีมพระสุเมรุกว่า 7 ปี ก็ยืนยันว่า การเต้นบีบอยช่วยให้เขาได้อะไรมากกว่าแค่การเต้น "การเต้นบีบอยสำหรับผมตอนนี้เป็นการออกกำลังกายไปแล้ว เมื่อก่อนที่เราเต้นเพื่อแข่งขัน ชีวิตก็จะโฟกัสเรื่องการเต้น เต้นท่าอะไร วางแผนเกี่ยวกับเต้น ทำให้เรามีเป้าหมายในชีวิต การเต้นบีบอยช่วยเรื่องการวางตัวในสังคมให้ผมได้เป็นอย่างดี ถ้าทุกวันนี้ผมไม่รู้จักการเต้นผมอาจจะกลายเป็นเด็กติดเกมไปแล้วก็ได้"
นายมารุต คาลเมนสาท หรือ ไบรอัน อายุ 19 ปี ที่เพิ่งจบม. 6 ที่อัสสละฟียะฮ์ วิทยาลัย เรียกว่าเป็นกลุ่มYoung Blood ของทีมพระสุเมรุ มาเรียนเต้นตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยแม่เป็นผู้เปิดโอกาสให้ "แม่ผมเคยมาเที่ยวที่ป้อมฯ และเจอกลุ่มบีบอยเขาเห็นว่าผมอยากเต้นก็เลยพามาฝากเต้นที่นี่ ที่แม่พามาเพราะไม่อยากให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แม่บอกทำอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เช่น กีฬา แต่ผมชอบเต้น แม่ก็เลยสนับสนุน หลังเลิกเรียนผมกับน้องก็จะมาซ้อมเต้นที่นี่ทุกวัน สิ่งที่บีบอยให้ผมคือ ผมได้รู้จักเพื่อนหลายกลุ่ม ได้รู้จักคนเยอะมาก ได้รู้จักความสามัคคีในการแข่งขัน มันก็เหมือนกับทีมบอลทีมหนึ่งครับ ถ้าไม่สามัคคี ไม่มีการซ้อม ไม่มีการคุย ไม่มีโคชที่คอยดูแลเราแบบนี้ การเต้นบีบอยก็จะพังไปหมดเลย"
"ไบรอัน" บอกว่าการเต้นบีบอยทำให้ได้เหมือนได้ครูเพิ่มมาอีกหนึ่งคน "เรามีครูจากโรงเรียนแล้ว ที่สอนตามวิชา แต่มาที่นี่เราสงสัยอะไรก็ถามได้เลย เช่น เรื่องการเข้าหาคน พี่เขาจะสอนว่าการเข้าหาคนไม่ใช่เป็นเรื่องน่าเกลียด หรืออาย การก้มสวัสดี ถึงแม้ว่าเขาจะอายุน้อยก็เป็นเรื่องดี เรื่องการเขินอายพี่เขาบอกว่าเหมือนเราเป็นนักแสดงถ้าเราไม่ขึ้นไปแสดงคนดูก็จะเสียใจตั้งแต่นั้นมาผมก็กล้าขึ้นไปเลย แม่ผมภูมิใจ 2-3 ปี ที่ผ่านมา ผมไม่ได้ขอเงินแม่เลยได้เงินจากการเต้น งานอีเว้นท์ โฆษณา งานแสดง มาเป็นค่าเทอม" สุดท้ายไบรอันบอกว่าความฝันของตัวเองอยากเรียนต่อด้านซาวด์เอ็นจิเนียร์ หรือเกี่ยวกับการเต้น การแสดงเพื่อต่อเติมทักษะด้านการเต้นของตัวเอง
"การเต้นบีบอย" ที่ใครๆ ก็คิดว่าเป็นแบดบอยในสายตาคนภายนอก แต่เมื่อได้เข้าไปสัมผัสแล้วกลับพบว่ากลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเยาวชนได้อีกทางหนึ่ง หากผู้ใหญ่จะเปิดใจกว้าง ยอมรับ และหนุนเสริมกิจกรรมดีๆ น่าจะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เยาวชนสามารถแสดงความสามารถได้อย่างถูกทาง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit