นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า (ร่าง) พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. ... มีสาระสำคัญ ดังนี้ ๑) มีการแยกผู้แสดงความสามารถออกจากผู้ทำการขอทาน โดยให้มีการแจ้งต่อพนักงานท้องถิ่นตามที่กำหนด ๒) มุ่งเน้นการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทานไม่ให้กลับมากระทำการขอทานอีก ๓) กำหนดความผิดทางอาญาแก่ผู้แสวงหาประโยชน์จากการขอทาน โทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือ ปรับไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ากระทำต่อหญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือเจ็บป่วย โทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ ๔) มีการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของคณะกรรมการควบคุมการขอทาน
นายไมตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้แม้กฎหมายดังกล่าวจะยังไม่มีผลบังคับใช้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดย พส. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองและส่งเสริมคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายคนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน ได้ขับเคลื่อนการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างครบวงจร เพื่อบำบัดฟื้นฟู พัฒนาทักษะชีวิต พัฒนาทักษะอาชีพ สร้างโอกาสการดำรงชีวิตอยู่ด้วยตนเองอย่างมั่นคง และมีศักดิ์ศรี เช่น โครงการธัญบุรีโมเดล โครงการอุทยานขยะรีไซเคิล และโครงการบ้านน้อยในนิคม เป็นต้น สำหรับการเตรียมการรองรับกฎหมาย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีหน่วยงานที่รองรับตามกฎหมาย คือ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ๑๑ แห่ง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอยู่ทั่วประเทศ ที่มีความพร้อมในการดำเนินการตามกฎหมายได้ทันท่วงที
"กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการขอทานอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อให้คนขอทาน ได้รับการพัฒนาศักยภาพ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ และไม่กลับมากระทำการขอทานซ้ำ ซึ่งทำให้บุคคลเหล่านี้ได้รับการยอมรับในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมในสังคม พร้อมทั้ง สร้างการรับรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคม ตามแนวทาง "ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน" และรณรงค์เรื่องหยุดการขอทานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพบเห็นคนไร้ที่พึ่ง ขอทาน สามารถแจ้ง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร. ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง" นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit