นายนครศิริ ปริญญานันท์ นายอำเภอสิรินธร กล่าวว่า จากนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ที่กำหนดให้จังหวัดอุบลราชธานี เป็นปีทอง ของการท่องเที่ยว ในปี 2559 นี้ พัทยาน้อย เป็นแหล่งท่องเทียวทางน้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของ อ.สิรินธร และ จ.อุบลราชธานี มีนักท่องเทียวทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัดจำนวนมากที่เข้ามาท่องเที่ยวและเล่นกิจกรรมทางน้ำ ทั้งนั่งแพทานอาหาร ว่ายน้ำ เล่นน้ำ นั่งเรือยาง นั่งบานาน่าโบ๊ท อันตรายจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากเครื่องเล่นเหล่านี้จึงตามมาด้วย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเทศกาลสงกรานต์ องค์การบริหารส่วนตำบลคันไร่ ได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์อนามัยที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และ หน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่อำเภอสิรินธร รวมถึง ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร เครื่องเล่นต่างๆในหาดพัทยาน้อยได้ประชุมปรึกษาหารือถึงมาตรการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น และได้จัดการรณรงค์การป้องกันเด็กจมน้ำในวันนี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มผู้ประกอบการในหาดพัทยาน้อย และ กลุ่มนักเรียนอายุ 5-15 ปี จำนวน 100 คน มีกิจกรรมการให้ความรู้ ความเข้าใจและการฝึกทักษะในการลงเล่นน้ำอย่างปลอดภัย พร้อมการฝึกทักษะการช่วยเหลือคนจมน้ำและการช่วยฟื้นคืนชีพ
ด้าน นางสาวศิริวรรณ ชุมนุม หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สคร.10 เปิดเผยว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตในเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม เป็นเดือนที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงหน้าร้อนและปิดเทอม เฉพาะช่วง 3 เดือนนี้ ในปี 2558 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 400 คน สถานที่เกิดเหตุที่พบบ่อย คือ แหล่งน้ำธรรมชาติ หนองน้ำ คลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ พบเพศชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่าตัว และเด็กอายุ 5-9 ปี มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าในทุกกลุ่มอายุ ด้านข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ปี พ.ศ. 2554 - 2558 พบว่า อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำปีละ 2-3 ราย เมื่อวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยการเสียชีวิตพบว่า ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า15ปี จำนวน 10 ราย และอายุต่ำกว่า 15 ปี มีจำนวน 4 ราย สถานที่เกิดเหตุมักเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ลำห้วย แม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำ
นางสาวศิริวรรณ กล่าวต่อว่า เด็กโตมักจะจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันครั้งละหลายๆ คน เนื่องจากเด็กไม่รู้วิธีการเอาตัวรอดในน้ำและวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง จึงมักกระโดดลงไปช่วยคนที่ตกน้ำ ดังนั้นมาตรการป้องกัน คือ สอนให้เด็กรู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำเมื่อตกน้ำ โดยการลอยตัวเปล่า หรือลอยตัวโดยใช้อุปกรณ์ช่วย สอนให้ประชาชนและเด็กรู้จักความปลอดภัยทางน้ำ ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง ไม่เดิน /ไม่เล่นใกล้แหล่งน้ำ และใช้ชูชีพทุกครั้งที่เดินทางทางน้ำ รวมทั้งสอนให้เด็กรู้จักวิธีช่วยเหลือที่ถูกต้อง โดยการตะโกนให้ผู้ใหญ่มาช่วย หรือถ้าไม่มีใครให้ใช้อุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถังแกลลอน ห่วงชูชีพ ไม้ยาวๆหรือเชือกโยนให้ผู้ตกน้ำ เกาะลอยตัวเข้าหาฝั่ง
ขอแนะนำว่า หากเกิดเหตุจมน้ำให้รีบโทรศัพท์แจ้งที่หมายเลข 1669 หรือหน่วยพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด และเริ่มการปฐมพยาบาลโดยจับคนจมน้ำนอนบนพื้นราบแห้งและแข็ง ตรวจดูว่ารู้สึกตัวหรือไม่โดยใช้มือ 2 ข้างจับไหล่ เขย่าพร้อมเรียกดังๆ กรณีไม่รู้สึกตัว ให้กดหน้าผาก เชยคาง เป่าปากช้าๆสม่ำเสมอ และกดนวดหัวใจโดยประสานมือวางส้นมือขนานกับแนวกึ่งกลางหน้าอก แขนตั้งฉาก กดหน้าอกความเร็ว 100 ครั้งต่อนาที เป่าปาก 2 ครั้ง สลับกับการนวดหัวใจ 30 ครั้ง จนกว่าจะรู้สึกตัว จากนั้นจับผู้ประสบเหตุนอนตะแคง ศีรษะหงายไปด้านหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก เมื่อหายใจได้แล้ว ให้ห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้ความอบอุ่น และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุจมน้ำ หรือการปฐมพยาบาลคนจมน้ำเบื้องต้นสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422.