บ้านบางแตนสำเร็จ สมาชิกตบเท้าเข้าอบรมตามหลักสูตรเกษตรอินทรีย์กับภาคีเครือข่ายของกระทิงแดง ฤดูกาลแรกเปิดพื้นที่กว่า 203 ไร่ ลด ละ การใช้สารเคมีทันฤดูกาลผลิต พร้อมเก็บเกี่ยวข้าว 77,480 ก.ก. (77.48 ตัน) มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน ขยายฐานสมาชิกอย่างเข้มแข็ง เดินหน้าขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจกระทิงแดง เผยถึงกิจกรรมเปิดตัว กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืน บ้านบางแตน ว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่กลุ่มธุรกิจกระทิงแดงได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ทุกกิจกรรม ล้วนมุ่งผลักดันสร้างความมั่นคงเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
โครงการเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืน ที่บ้านบางแตน ได้เริ่มต้นจากการหาแนวร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ จนได้เกษตรกรแนวร่วม 33 ครัวเรือน เข้ามารับการอบรมตามเงื่อนไขโครงการ 2 หลักสูตร จากภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ กระทั่งจัดตั้งคณะกรรมการของกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืนบ้านบางแตนขึ้น ราวเดือนกันยายน 2558 เพื่อระดมความคิดเห็นของสมาชิก เขียนแผนการจัดตั้งกลุ่มฯ โดยมีเป้าหมายคือการผลิตข้าวอินทรีย์ จนกระทั่งสามารถสร้างตราสินค้าของกลุ่มฯ ให้สำเร็จ
เกษตรกรได้ทดลองใช้พันธุ์ข้าว สะมากีตาร์,ไรซ์เบอร์รี่,หอมปทุม,มะลิ 105 ,พันธุ์ 81 ,กข91,57 และข้าวหอมนิล ตอนนี้ปริมาณข้าวที่เหลือของรอบผลิตนี้มีไม่มาก ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการจัดการของกลุ่ม ว่าจะมีการพิจารณาหาข้อสรุปในการดำเนินการ ว่าจะทำอย่างไร ส่วนปัญหาในพื้นที่นอกจากปัญหา ดินเปรี้ยว น้ำแล้ง และเมล็ดพันธุ์ข้าว ยังมีปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน ทั้งร้อนจัด หนาวจัด บางพื้นที่มีฝนตก ส่งผลให้เกิดแมลงชนิดใหม่ระบาดในพื้นที่ ทั้งในนาเคมีและนาอินทรีย์ แต่ด้วยองค์ความรู้ที่กลุ่มสมาชิกได้รับการอบรมกับภาคีเครือข่ายมานั้น จึงได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนภายในกลุ่ม นำเอาวิธีการกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชมาปรับใช้ในที่นาของตน ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรสมาชิกไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง และยังสามารถเก็บเกี่ยวได้ นับเป็นมิติใหม่ของพลังกลุ่มที่สมาชิกได้ทำงานและเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น
โดยกระทิงแดงจะคอยเป็นพี่เลี้ยงจนกระทั่งกลุ่มสามารถบริหารจัดการได้ในที่สุด ซึ่งสมาชิกทั้ง 33 ครัวเรือน มีการทำบัญชีครัวเรือนอย่างจริงจัง โดยเริ่มพื้นที่เพาะปลูกแนวอินทรีย์อยู่ที่ 203 ไร่ ได้ผลผลิตรุ่นแรกอยู่ประมาณ 77.48 ตัน เฉลี่ย 380 กิโลกรัม/ ไร่ ในขณะที่ข้าวเคมีจะให้ผลผลิตอยู่ที่ 430 - 450 กิโลกรัม/ไร่ แต่เกษตรกรจะมีต้นทุนต่อการผลิตสูงกว่านาอินทรีย์มากคือนาเคมีจะอยู่ที่ 4,000- 5,000 บาทต่อไร่ ในขณะที่นาอินทรีย์ หากเกษตรกรทำเต็มระบบแล้วจะอยู่ที่ 1,500 - 2,000 บาทต่อไร่ โดยกลุ่มธุรกิจกระทิงแดงจะให้การอุดหนุนเกษตรกร 1 บาท : 1 กิโลกรัมข้าวเปลือก และอีก 0.5 บาท : 1 กิโลกรัมข้าวสารสำหรับอุดหนุนเข้ากลุ่มฯ ให้สามารถนำเงินดังกล่าวไปบริหารจัดการกลุ่มฯ ได้ ซึ่งกลุ่มธุรกิจกระทิงแดงจะให้การสนับสนุนต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปี โดยมีเป้าหมายให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ฯ ทั้ง 33 ครัวเรือนขยายพื้นที่ปลูกของตนเป็น เกษตรอินทรีย์เป็น 100% คิดเป็นพื้นที่ 1,700 ไร่ และเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ของชุมชนต่อไป