วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาและผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้มีการเติบโต และมีสัดส่วนการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ให้มากถึง 50% รวมทั้งผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยสามารถส่งออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ การพัฒนาผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยและการขยายสาขาเป็นทั้ง Vision และ Mission หลักของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป Vision ของเรา คือ จะเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมพัฒนาและผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย สามารถส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ ส่วนMission คือ จะเดินหน้าลงทุนขยายตลาดสร้างโรงภาพยนตร์ ให้ครบ 1,000 โรง ภายในปี 2563 แบ่งเป็นโรงภาพยนตร์ในเมืองไทย 900 โรง และกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, พม่า และ เวียดนาม อีก 100 โรงซึ่งจะเป็นช่องทางรองรับให้ภาพยนตร์ไทยสามารถเติบโตได้
วิชา กล่าวว่า ผมมองโอกาสเติบโตของภาพยนตร์ไทยมีอยู่มาก หากได้รับการพัฒนาและสนับสนุนอย่างถูกต้อง สามารถเทียบเท่ากับภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดได้ เช่น ภาพยนตร์ไทยเรื่อง พี่มากพระโขนง ที่สามารถทำรายได้มากถึง 1,000 ล้านบาท และยังส่งสามารถออกไปฉายยังต่างประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียได้อีกด้วย ทั้ง พม่า, กัมพูชา, เวียดนาม, ฮ่องกง, สิงคโปร์, ไต้หวัน, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้ เป็นต้น อยากเห็นภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่น ๆ อีกหลาย ๆ เรื่องสามารถทำได้เช่นเดียวกับ พี่มากพระโขนง
ปัจจุบัน เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มีสาขาทั้งสิ้น 92 สาขา 609 โรง 140,794 ที่นั่ง เป็นสาขาในเขตกรุงเทพฯ 26 สาขา 256 โรง ต่างจังหวัด 38 จังหวัด 64 สาขา 341 โรง และต่างประเทศ 2 สาขา ที่ กัมพูชาและลาว รวม 12 โรง
ด้าน จันทิมา เลียวศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม เทอร์ตี้ ไนน์ จำกัด กล่าวว่า เรายังเชื่อมั่นในศักยภาพของหนังไทยและอาชีพคนทำหนังที่ต่างก็มีความตั้งใจจริงที่จะผลิตหนังไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้ชม เห็นได้จากการถูกยอมรับจากประเทศคู่ค้าที่มีการตอบรับเพิ่มขึ้น เช่นภาพยนตร์เรื่อง "รุ่นพี่" ซึ่งสามารถขยายตลาดจากเดิม 7 ประเทศ เป็น 11 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, ไต้หวัน, บรูไน, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย,มาเลเซีย, พม่า, ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา และฮ่องกง รายได้จากการฉายยอดรวมของ Box Office ใน 6 ประเทศนั้น เพิ่มขึ้นมากกว่าในปี 2013 58% และ ณ ตอนนี้ ภาพยนตร์เรื่อง "11-12-13 รักกันจะตาย" ก็ได้รับการยืนยันการซื้อจากประเทศคู่ค้าแล้วถึง 6 ประเทศ พร้อมฉายในปี 2559 นี้
ภาพยนตร์ 11-12-13 รักกันจะตาย นำแสดงโดย เวียร์ ศุกลวัฒน์, ยิปโซ อริย์กันตา, บุ๊คโกะ-ธนัชพันธ์, ดาต้า ดรัลชรัส, เจสซี่ เมฆวัฒนา, เบสท์ ณัฐสิทธิ์, ยศ ณัฎฐ์ศรุต และเอ็ม เกียรติศักดิ์ กำกับการแสดงโดย ศราวุธ วิเชียรสาร กำหนดเข้าฉายในประเทศไทย 31 มีนาคม 2559
ส่วน ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเลนต์ วัน จำกัด กล่าวว่า Line upภาพยนตร์ของ ทาเลนต์ วัน ในปีนี้มี 3 เรื่อง คือ เรื่อง "Fifteen" เป็นภาพยนตร์โรแมนติก คอมเมอดี้ มีกำหนดฉายกลางปีนี้ ส่วนเรื่อง "Copy Aholic Girl" เป็นภาพยนตร์โรแมนติก คอมเมอดี้ ดราม่า และเรื่อง "Four Cities Four Loves" กำหนดเข้าฉายปลายปี ส่วนอีกเรื่อง คือ ความรักที่พระโขนง กำหนดเปิดกล้องในปีนี้ แต่จะเข้าฉายปีหน้า
ทาเลนต์ วัน เน้นการสร้างภาพยนตร์ที่มีคุณภาพ บทต้องดีและมีการผลิตที่ดีควบคู่กันตามหลักสตูดิโอสากล โดยจะเน้นแบบ Hybrid คือ ภาพยนตร์จะมีความหลากหลายของรสชาติ ทั้ง โรแมนติก ดราม่า ฮอร์เลอร์ แต่จะใช้โรแมนติกเป็นตัวนำ และจะโฟกัสไปที่กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มวัยทำงานเริ่มต้น (First Jobber) เนื่องจากเป็นกลุ่มหลักที่ชอบชมภาพยนตร์
สำหรับ ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม หลังจาก ฝากผลงานภาพยนตร์คุณภาพ 3 เรื่อง คือ ตุ๊กแกรักแป้งมาก, ซิงเกิ้ลเลดี้ เพราะเคยมีแฟน และฉลุยแตะขอบฟ้า ใน 2 ปีที่ผ่านมา ปีนี้ ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม ปรับกลยุทธ์การทำงานด้วยระบบที่เป็นสากลมากขึ้น เพื่อเดินหน้าสร้างผลงานคุณภาพอย่างเต็มที่สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด กล่าวว่า
สิ่งที่แตกต่างวันนี้ก็คือเรื่องระบบของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เริ่มตั้งแต่ระบบของการลงทุน ระบบการผลิต มันก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว อย่างทุกวันนี้ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์มเองก็ใช้ระบบของสตูดิโอเข้ามาเป็นระบบในการผลิต เรามีโปรดิวเซอร์ (Producer System) เข้ามาดูแลโปรเจคเป็นหลัก และโปรเจคที่ว่านั้นต้องผ่านการรีเสิร์ทข้อมูลจากฝ่ายมาร์เก็ตติ้งเพื่อจะได้ตอบโจทย์ผู้ชมให้ได้มากยิ่งขึ้น แล้วก็นำไปพัฒนาจนโปรเจคแข็งแรงแล้วถึงจะเริ่มในส่วนของขบวนการผลิตต่อ ๆ ไป เช่น กระบวนการสร้าง กระบวนการหาคนมาสร้างต่าง ๆ จากเมื่อก่อนที่อาจจะเริ่มจากมีคนคิดโปรเจคขึ้นมาแล้วก็ทำโปรเจคนั้น ๆ คนเดียว แต่ระบบของเราตอนนี้จะสร้างความชำนาญเฉพาะด้านขึ้นมาในแต่ละส่วนเช่น คนเขียนบทเขาก็จะชำนาญการด้านเขียนบท ครีเอทีฟก็จะครีเอทอย่างเดียว รวมไปถึงคนทำการตลาดและคนจัดจำหน่ายก็จะเป็นคนชำนาญเฉพาะด้าน แล้วเราก็ทำให้เป็นระบบสายพาน ซึ่งระบบนี้จะทำให้เกิดงานมากขึ้นในหนึ่งปีแทนที่เมื่อก่อนเราสามารถผลิตปีหนึ่งแค่ 1-2 เรื่อง พอระบบเข้าที่ก็อาจจะทำให้เราผลิตได้ปีหนึ่ง 6-10 เรื่อง เหมือนระบบสตูดิโอต่างประเทศเขาทำกัน ในส่วนระบบของการลงทุนด้วยความที่เราจะผลิตภาพยนตร์เยอะขึ้นการลงทุนก็จะเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นผมว่าภาพยนตร์ก็เหมือนสินค้าตัวหนึ่งที่มีความน่าสนใจของมันอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์ประกอบต่าง ๆ ของสินค้า มันมีเรื่องราว ความสนุกสนาน มีทั้งดารา มีทั้งโปรดักชั่น มีทุกอย่างที่จะสร้างความบันเทิงให้กับคน ผู้ลงทุนภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็อาจจะสามารถมาใช้ประโยชน์ตรงนี้เพื่อเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นเราก็จะเชิญชวนคนกลุ่มนี้เข้ามาร่วมลงทุนกับภาพยนตร์ไทยให้มันเกิดเป็นอุตสาหกรรมจริง ๆ ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ใช่ เรื่องใหม่เป็นเรื่องที่ต่างประเทศเขาก็ทำกันมานานแล้ว แต่บ้านเรายังไม่ได้มีการทำขึ้นมา ส่วนใหญ่ก็จะลงทุนเองคนเดียว ณ ตอนนี้เราก็เริ่มจากตรงนี้โดยที่เราเริ่มมีหุ้นส่วนของเรา คือ บริษัท ซีเจ เอนเตอร์ เทนเม้นท์ (CJ entertainment) จากเกาหลี เราก็เริ่มเรียนรู้ระบบและเริ่มที่จะทำงานในระบบตรงนี้กับทาง
บริษัท ซีเจ เอนเตอร์เทนเม้นท์และคนอื่น ๆ ด้วย นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราคิดว่าภาพยนตร์ไทยถึงเวลาต้องเปลี่ยนทั้งวิธีการสร้าง การลงทุน การตลาดใหม่ ๆ ซึ่งวันนี้เราก็ต้องยอมรับว่าไวรัล (Viral) ก็มีบทบาทเยอะ ภาพยนตร์ก็มีอายุที่สั้นลง จากเมื่อก่อนกว่าจะรู้ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นดีหรือไม่ดีก็ใช้เวลาเป็นอาทิตย์ กว่าหนังสือพิมพ์จะออก กว่าข่าวจะออก แต่ทุกวันนี้เข้าไปดูไม่ถึง 5 นาทีข่าวมาแล้วทุกอย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้นเราต้องมั่นใจว่าสินค้าที่จะออกไปมันต้องไม่มีจุดพลาดให้เกิดกระแสที่ไม่ดีที่จะส่งผลร้ายให้กับตัวภาพยนตร์ ดังนั้นจะมีจุดหลายจุดที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันกับสิ่งที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันนี้ที่ต้องตอบโจทย์ให้กับคนดู
ก้าวต่อไปของ ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม เราวางไว้ 3 ขั้น ขั้นแรกเป็นในส่วนของระบบ ซึ่งตอนนี้เราเริ่มวางระบบมาปีกว่า ๆ แล้ว ถือได้ว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจและเริ่มเข้าที่ เมื่อระบบเข้าที่ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่2 คือ การเริ่มขับเคลื่อนโปรเจคต่าง ๆ ออกมา ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไปจะเริ่มเห็นผลงานของทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม ออกมา สิ่งที่เราพยายามรักษาไว้อยู่ตั้งแต่เรื่องแรกของเรา (ตุ๊กแกรักแป้งมาก) ก็คือคุณภาพของภาพยนตร์ที่ออกมาแล้วสามารถทำให้คนประทับใจ เกิดการจดจำภาพยนตร์ได้ ไม่ใช่ดู 2-3 วันก็ลืมมันไป เราจะพยายามเน้นคุณภาพกับภาพยนตร์ของเรา และในปีหน้าปี 2017 เราก็คิดว่ามันน่าจะเป็นปีที่เติบโตของเราหลังจากที่ระบบมันอยู่ตัวแล้ว เรามองไปถึงเรื่องของการผลิตเราจะผลิตให้ได้ 6-7 เรื่องต่อปี และขั้นสุดท้ายที่เราจะไปก็คงจะพัฒนาตัวเองให้ไปถึงตลาดสากลก็คือการนำภาพยนตร์ไทยไปตลาดต่างประเทศด้วย ซึ่งตอนนี้เราก็วางไว้ในโซนของ AECบ้างแล้ว ประเทศไหนที่เราสามารถเข้าไปได้ เราก็จะไป ตอนนี้เราเริ่มมีโปรเจคกับทางจีนและเกาหลี ต่อไปก็จะเป็นปีที่เราสามารถไปถึงจุดมุ่งหมายนั้นได้ เป็นการเติบโตที่เรามองไว้ในทิศทางของปีนี้คือสิ่งที่ทาง ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จะก้าวต่อไป
ด้าน พจน์ อานนท์ โปรดิวเซอร์และผู้กำกับ จาก บริษัท ฟิล์ม กูรู จำกัด กล่าวถึงมุมมองที่มีต่อก้าวใหม่ หนังไทย ว่า เชื่อมั่นว่าคนไทยไม่ทิ้งหนังไทยแน่นอน ผมทำหนังไทยมาหลายปี มีโอกาสได้ร่วมงานกับทีมงานทั้งเบื้องหน้าและเบี้องหลังหลากหลายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการทำหนัง ทั้งสองส่วนนี้ผมได้เห็นการเติบโตขึ้นตลอดเวลา มีคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้ามาเรียนรู้ในสายงานอาชีพนี้ คนที่เข้ามานานแล้วก็พัฒนาฝีมือให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ จะเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมาหนังไทยได้รับการยอมรับในต่างประเทศมากขึ้น ผมว่าคนเก่ง ๆ ในธุรกิจหนังไทยมีเยอะมาก ผมยังเชื่อมั่นในหนังไทย
ส่วน ยอร์ช ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ โปรดิวเซอร์และผู้กำกับ จาก บริษัท รฤก โปรดั๊กชั่น จำกัด กล่าวว่าได้มีโอกาสคุยกับคนทำหนังรุ่นใหม่ ๆ แต่ละคนมาพร้อมไอเดียดี ๆ ที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และน่าติดตาม การที่ได้คุยกับพวกเค้าสิ่งนึงที่เห็นได้ชัด คือ พวกเค้ามีคอนเทนท์ที่ชัดเจน ใหม่ในการนำเสนอ และเล่าเรื่องอย่างมีสไตล์ของคนทำหนังยุคใหม่ ๆ ที่สำคัญสิ่งที่เค้าคิดมันชวนให้คนยุคเดิมสนุกไปด้วย และนี่แหละน่าจะเป็นจุดสำคัญที่บุกตลาดหนังไทยได้ดี
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit