กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ 6 มาตรการ ดังนี้
1.การนำเข้า ผลิต และ จำหน่ายปุ๋ย ต้องมีใบอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร (กรณีรถเร่ขายปุ๋ย ถือว่าผิดกฎหมายแน่นอน เพราะไม่มีใบอนุญาต)
2.ตรวจสอบการนำเข้าปัจจัยที่นำไปผลิตปุ๋ย ทั้งการตรวจใบอนุญาต และ สุ่มเก็บตัวอย่าง
3.ควบคุมการผลิต และ จำหน่าย ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ปุ๋ย โดยพิจารณาจากพื้นที่ ชนิดพืช และ ฤดูกาล เพื่อลดความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น ภาคเหนือมีการปลูกลำไย ข้าว หอมแดง กระเทียม หอมหัวใหญ่ อ้อย ควรมีปุ๋ยเฉพาะที่ใช้กับพืชเหล่านี้ในพื้นที่ อาทิเช่น ในห้วงเดือน เม.ย. - ก.ค. มีเฉพาะปุ๋ยสูตร 8 - 24 - 24 เป็นต้น
4.จัดโครงการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ Q-Shop ซึ่งในปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรรับรองแล้ว 2,691 ร้าน
5.การควบคุมโฆษณาและฉลาก ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแส เพื่อตรวจการโฆษณาเกินจริง
6.จัดทำระบบค้นหา และ ตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่เกษตรกรอย่างทั่วถึง
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ตั้งแต่ ม.ค. ที่ผ่านมา สารวัตรเกษตร ร่วมกับ จนท.ตร. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ออกตรวจพบผู้กระทำผิด 12 ราย ปุ๋ยปลอม 350 ตัน มูลค่า 19.78 ล้านบาท (พบที่ กทม. 2 ราย, ปทุมธานี 3 ราย, กาญจนบุรี 2 ราย, นครปฐม 1 ราย, พิจิตร 1 ราย, กำแพงเพชร 1 ราย, ชัยภูมิ 1 ราย และ นครพนม 1 ราย) ซึ่งจากการกระทำผิด มีทั้งโทษจำคุก และ ปรับ เช่น ผลิตหรือมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายปลอม มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท ผลิตปุ๋ยเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ทั้งนี้ ผู้พบเห็นการกระทำผิดสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สารวัตรเกษตร โทร. 02-9404534 และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) โทร. 1135 เมื่อคดีถึงที่สุด ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินรางวัลนำจับ ร้อยละ 9 ของค่าปรับอีกด้วย" นายสุรพล กล่าว