นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือนมีนาคมยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมีนาคม 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.74 จุด สู่ระดับ 66.33 จุด ดัชนีอยู่เหนือระดับ 50 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามสะท้อนระดับความเชื่อมั่นต่อการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ ในการจัดเก็บข้อมูลเราพบว่ากลุ่มตัวอย่างค่อนข้างจะเชื่อว่าตลาดทองคำยังคงได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อเก็งกำไร หลังราคาทองคำฟื้นตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยมุมมองดังกล่าวสอดคล้องกันทั้งกลุ่มผู้ค้าทองคำและกลุ่มผู้ลงทุนทองคำ ส่วนปัจจัยลบสำคัญยังอยู่ที่การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและทิศทางดอกเบี้ยของ FED ด้านการตอบแบบสอบถามเรื่องความต้องการซื้อทองคำในช่วง 1 เดือนข้างหน้าพบว่าสัดส่วนผู้ที่คิดจะซื้อทองคำในช่วงเดือนมีนาคม 2559 ยังอยู่ใกล้ระดับ40% ของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะสามเดือนข้างหน้าปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนโดยเพิ่มขึ้น 0.78 จุดมาอยู่ที่ระดับ 54.02 จุด
บทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 8 ตัวอย่าง พบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในประเทศเฉลี่ยเดือนมีนาคม 2559 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนก่อนสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ โดยมีผู้ค้า 5 รายมองทองคำเฉลี่ยทองคำในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 1 รายมองราคาทองเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับเดือนกุมภาพันธ์ และมี 2 รายที่เชื่อว่าราคาทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงในเดือนมีนาคม
โดยผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,280-1,360 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,150-1,210 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 95.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 21,000-22,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 19,000-20,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit