กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าเร่งรัดแก้ปัญหาวิกฤติยางพารา เร่งรัดการออกใบอนุญาตโรงงานที่ขอแจ้งประกอบกิจการขยายโรงงาน 79 โรง คาดการณ์หากโรงงานมีการขยายครบทั้ง 79 โรง ส่งผลให้มีการใช้ยางวัตถุดิบเพิ่มขึ้น 8.7 แสนตันต่อปี พร้อมจัดตั้งทีมติดตามเร่งรัดโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมยางล้อ ยางยืด ถุงมือยาง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและเร่งรัดให้โรงงานยางได้ดำเนินการเปิดกิจการเร็วขึ้นกว่าเดิม
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการช่วยเหลือชาวสวนยางพาราที่ปัจจุบันปัญหายางพารามีราคาตกต่ำอย่างมาก กิโลละ 20-30 บาท ปัญหาดังกล่าว กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีมาตรการที่จะช่วยเหลือและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยาง โดยช่วยแก้ปัญหายางพารา และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับโรงงานที่ขอใบอนุญาตขอขยายโรงงาน การจัดตั้งโรงงาน เพื่อผลักดันให้โรงงานสามารถประกอบกิจการได้โดยเร็วขึ้น และมีมาตรการเร่งรัดให้โรงงานยางฯ ดำเนินการรับซื้อวัตถุดิบยางเพิ่มมากชึ้นและสามารถผลิตมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ยางมากขึ้น
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการเร่งรัดอนุญาตขยายจดประกอบกิจการ กรอ. ได้จัดตั้งทีมคณะทำงานติดตาม เร่งรัดโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมยางล้อ ยางยืด ถุงมือยาง และอื่นๆปัจจุบันมีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางที่จดทะเบียนกับ กรอ.ทั้งหมด 2,246 โรงงาน มีการใช้ยางพาราเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ มากกว่า 4 ล้านตัน โดยมี 79 โรงงานที่จะเปิดดำเนินการ ดังนี้
เดือน / ปี
จำนวนโรงงาน
มกราคม 2559
4 โรงงาน
กุมภาพันธ์ 2559
14 โรงงาน
มีนาคม 2559
5 โรงงาน
เมษายน 2559
2 โรงงาน
พฤษภาคม 2559
7 โรงงาน
มิถุนายน 2559
8 โรงงาน
กรกฎาคม 2559
5 โรงงาน
สิงหาคม 2559
7 โรงงาน
กันยายน 2559
13 โรงงาน
ตุลาคม 2559
2 โรงงาน
พฤศจิกายน 2559
6 โรงงาน
ธันวาคม 2559
7 โรงงาน
โดยใน 79 โรงงานนี้ ยังมีโรงงานที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น อยู่ระหว่างกำลังก่อสร้างโรงงาน จำนวน 13 โรงงาน กำลังแจ้งประกอบกิจการ จำนวน 5 โรงงาน กำลังติดตั้งเครื่อง 2 โรงงาน ขาดแหล่งเงินทุน จำนวน 1 โรงงาน ขยายเวลาการแจ้งประกอบ จำนวน 11 โรงงาน เงินทุนไม่พอ อยู่ระหว่างหาแหล่งเงินทุนหรือผู้ร่วมทุน จำนวน 9 โรงงาน ไม่เข้าเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน จำนวน 1 โรงงาน มีปัญหาสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและขาดตลาดรองรับ จำนวน 14 โรงงาน การก่อสร้างอาคารโรงงานล่าช้ากว่ากำหนด จำนวน 10 โรงงาน และมีปัญหาอื่นๆ อีก 5 โรงงาน
กรอ. จะเข้าไปดำเนินการอำนวยความสะดวกเพื่อให้สามารถดำเนินการเปิดขยายกิจการได้โดยจะมีทีมชุดตรวจสอบดังกล่าวให้คำปรึกษาโรงงานที่มีปัญหา ในกรณีที่โรงงานมีปัญหาไม่สามารถดำเนินการเปิดได้ คาดว่าหากโรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าวเปิดดำเนินการครบทุกแห่งทั้ง 79 โรงงาน คาดว่าจะมีการใช้ยางพาราประมาณ 8.7 แสนตัน/ปี ทั้งนี้จะเร่งรัดให้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราเพิ่มปริมาณการเก็บสต๊อกยางพาราเป็นวัตถุดิบ รวมทั้งให้เตรียมการรองรับการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ยางพาราจากส่วนราชการต่างๆ ซึ่งในขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมได้มีการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพิ่มมากขึ้น เช่น หมอนสุขภาพ ถุงมือ รองเท้า แผ่นยางปูพื้น กาวน้ำยาง เป็นต้น
ด้าน นางวัลยา วงศาริยวานิช รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทดีสโตน กล่าวว่า กลุ่มบริษัท ดีสโตน ประกอบธุรกิจผลิตยางล้อรถเพื่อยานพาหนะประเภทต่างๆ มาเป็นระยะเวลา 40 ปี โดย บริษัท สวิซซ์-วัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทเครือกลุ่มบริษัท ดีสโตน มีการผลิตยางเพื่อยานพาหนะส่วนบุคคลประเภทเรเดียล ได้ให้การสนับสนุนภาครัฐของการพยุงราคายางด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น ปัจจุบันมีการผลิตยางแบรนด์ deestone และแบรนด์ thunderer โดยล่าสุดทางกลุ่มดีสโตนได้มีการขยายโรงงาน รองรับความต้องการในสินค้าที่มีการสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ คาดว่า ในปีนี้จะสามารถเพิ่มกำลังการการผลิตได้มากขึ้น จากเดิม 10000 ตันต่อปี เป็นใช้ยางไม่ต่ำกว่า 60,000 - 70,000 ตัน ต่อปี และจะพยายามขยายกำลังการผลิตให้เป็นไปตามแผนทางธุรกิจ คือ ในปี 2560 จะมีการใช้ยางมากกว่า 90,000 ตัน ต่อปี เพื่อใช้ผลิตยางทุกประเภทที่กลุ่มบริษัท ดีสโตนดำเนินธุรกิจอยู่ ซึ่งในแผนการขยายโรงงานนั้น ได้เริ่มมีการขยายโรงงานในส่วนของเรเดียลสำหรับยานพาหนะส่วนบุคคลที่จะเพิ่มกำลังการผลิตได้มากถึง 10 ล้าน เส้นต่อปี ในปี 2559 เพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ใช้ทั่วโลก
ประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ กลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม 0-2202-4014 หรือ email: [email protected] และเว็บไซต์ www.diw.go.th