นั่นคือคำพูดที่เด็กสาว 3 คน จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ประกอบด้วย นางสาวรสิตา วัฒนศิริ (อุ้ม) นางสาวพิชชากร เจริญพรอนุกูล (ไอซ์) นางสาวณัฐกนก โภคทรัพย์ไพบูลย์ (ภีร์) เจ้าของ ผลงานSarapao Millionaire สื่อส่งเสริมการเรียนรู้วิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ที่จะเปลี่ยนความคิดของเพื่อนๆ ม. 5 ว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องใสๆ และสนุกกว่าที่คิดผ่านรูปแบบของเกม
รวมทีมสร้างงาน สู่การประกวด
การรวมตัวของ 3 เด็กสาวนี้ เกิดขึ้นจากที่อาจารย์ ศรา หรูจิตตวัฒน์ (ครูฝ้าย) เห็นแววความเป็นนักพัฒนาด้านไอที จากการวาดรูปและทำสูจิบัตรงานกีฬาสีของโรงเรียน จึงชักชวนมาเป็น 'เด็กคอม' ของหมวดวิชาคอมพิวเตอร์ พัฒนาผลงานทั้งแอพพลิเคชั่นและแอนิเมชั่นเรื่อยมา จนล่าสุดได้พัฒนาผลงานชื่อ Sarapao Millionaire เข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 3 สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ส่งผลงานชิ้นเดียวกันนี้ ส่งประกวดโครงการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17 (NSC2015) และได้รางวัลที่ 3 ประเภทโปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ระดับนักเรียน "ที่ส่งผลงานเข้าโครงการต่อกล้าฯ อยากพัฒนาผลงานตัวเองให้ดีขึ้น และได้ประสบการณ์ที่เอาไปใช้ได้ในชีวิตจริงค่ะ" อุ้มให้เหตุผล
Sarapao Millionaire เป็นสื่อส่งเสริมการเรียนรู้วิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ที่นำเสนอเนื้อหาในรูปแบบ Infographic และInteractive ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายกว่าการศึกษาจากตำราทั่วไป ผ่านการจำลองเหตุการณ์การลงทุนแบบเสมือนจริงผ่านเกม ผู้เรียนจะได้ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา และสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
"Sarapao Millionaire แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักค่ะ คือ ส่วนเนื้อหาและส่วนเกมจำลองสถานการณ์ นำเสนอผ่านรูปแบบ Infographic และ Interactive ในระบบออนไลน์ ส่วนเนื้อหาจะแบ่งเป็น 5 บทเรียนหลักและมีบทเรียนย่อยๆ สำหรับให้ผู้เรียนเลือกเรียน ส่วนเกม ผู้เรียนจะจำลองตัวเองเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย เลือกซื้อขายสินค้าให้เหมาะกับสถานการณ์ที่กำหนดค่ะ" อุ้มเปิดบทสนทนาด้วยการอธิบายแอพพลิเคชั่นให้เราฟัง ก่อนที่ภีร์จะเล่าถึงแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงานนี้ขึ้นมา "ที่ทำเพราะเห็นว่าคนส่วนใหญ่จะมองเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นเรื่องที่ยาก และในหนังสือตำราเรียนก็นำเสนอเนื้อหาได้ค่อนข้างน่าเบื่อ (ยิ้ม) ทั้งๆ ที่เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่หนังสือทำให้มันยากเกินไป ใช้ศัพท์ยาก จึงอยากทำโปรแกรมนี้ขึ้นมาให้คนเข้าใจเศรษฐศาสตร์มากขึ้นค่ะ"พัฒนาผลงานผ่านการเรียนรู้
ภีร์รับหน้าที่เขียนโค้ด อุ้มทำกราฟิกในส่วนของเนื้อหา และไอซ์ทำกราฟิกในส่วน Interactive ของเกม การเข้าร่วมโครงการต่อกล้า ทำให้ 3 สาวได้รับทักษะความรู้มากมาย โดยเฉพาะใน 3 เรื่องหลักๆ คือ UI (User Interface) UX (User Experience), การนำเสนอผลงาน และการทดลองใช้พร้อมเก็บข้อมูลเสียงตอบรับจากผู้ใช้ "ประทับใจช่วงเรียน UI UX ค่ะ ทำให้รู้ว่าจะออกแบบอย่างไรให้คนอื่นเข้าใจและใช้ได้ ไม่ใช่เราเข้าใจคนเดียว (หัวเราะ) ทุกคนสามารถเข้าใจกับเราได้" อุ้มกล่าว"อีกเรื่องคือการนำเสนอค่ะ ทำให้เรามองเห็นจุดเด่นของแอพพลิเคชั่นเรา ว่ามีจุดเด่นอะไร แล้วจะไปนำเสนออย่างไรให้เขาสนใจ และเราเองก็ต้องมั่นใจ เพราะพี่ๆ เขาบอกให้เชื่อมั่นในตัวเองก่อน ว่าผลงานของเรามันดีจริงๆ ถ้าเราไม่เชื่อมั่นใจแอพพลิเคชั่นของเรา แล้วใครจะมาเชื่อ" ไอซ์กล่าวเสริม
"ได้นำไปทดลองใช้ในห้องเรียนชั้น ม.5 ที่โรงเรียนค่ะ เพราะเป็นชั้นที่มีเรียนเรื่องเศรษฐศาสตร์ จึงเข้าไปคุยกับอาจารย์ว่าจะขอทดลองใช้แอพพลิเคชั่นนี้ นอกจากนั้นก็มีรุ่นพี่ที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์มาแล้วมาช่วยทดลองใช้ให้ เขาก็แนะนำมา แล้วเราก็มาปรับให้ดีขึ้นค่ะ" ภีร์กล่าว
โดยประเด็นที่ได้จากการทดลองกับกลุ่มผู้ใช้ รวมไปถึงคำแนะนำจากกรรมการและโค้ช คือ การปรับ UI เป็นหลัก "เสียงสะท้อนที่ได้รับ ส่วนใหญ่จะบอกว่าตัวหนังสือเล็กไป เราก็ปรับให้ใหญ่ขึ้นในเวอร์ชั่นแอนดรอยด์ รวมไปถึงปรับฟังก์ชั่นให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ช่วงไหนที่เนื้อหาเร็วเกินไป ผู้ใช้ตามไม่ทัน เราก็ปรับให้ช้าลงค่ะ" อุ้มกล่าว
บทเรียนและการส่งต่อ
การได้เข้าร่วมโครงการต่อกล้าของ 3 สาว ทำให้พวกเธอได้เรียนรู้ทักษะ และได้ประสบการณ์ในการทำงานมากมาย "การได้มาทำงานในโครงการ ทำให้มีประสบการณ์ในหลายๆ เรื่องมากขึ้นค่ะ ทั้งการนำเสนองาน การออกแบบ UI ให้คนเข้าใจเรามากขึ้น รวมถึงหลายๆ เรื่องที่เราไม่เคยเรียนรู้มาก่อนอย่างการทำการตลาด ก็ได้นำความรู้นี้มาใช้พัฒนาผลงานของเรา หรือผลงานอื่นๆ ในอนาคตต่อไป" อุ้มกล่าว
"มีความรับผิดชอบมากขึ้นค่ะ เพราะต้องทำงานโรงเรียน ทำงานแข่ง บริหารทุกอย่างให้อยู่ในกำหนด" ไอซ์เสริมในอีกประเด็น ก่อนที่ภีร์จะพูดถึงประเด็นสำคัญที่ได้เรียนรู้และเป็นประโยชน์อย่างมาก นั่นคือ การพัฒนาผลงานบนฐานของผู้ใช้
"ได้แนวทางในการทำงานโดยคิดถึงผู้ใช้เป็นหลักค่ะ คือถ้าเราจะทำแอพพลิเคชั่นขึ้นมา มันต้องเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่เกิดมาเพื่อตอบสนองตัวเราเองหรือทำเพื่อแข่งแล้วก็จบไป พูดง่ายๆ คือต้องคิดถึงคนอื่นๆ ในสังคม ก่อนทำงานก็ต้องไปสำรวจ ลงพื้นที่ หาประเด็นปัญหาที่มีอยู่จริง และพัฒนางานบนพื้นฐานนั้นค่ะ"
"คืออย่าใช้ความคิดตัวเองเป็นใหญ่" อุ้มเสริม "ต้องฟังความคิดคนอื่น เวลาคนอื่นแนะนำมาก็นำมาคิด มาปรับปรุง อย่างเมื่อก่อน เวลาหนูออกแบบงานออกแบบฟังก์ชั่น คิดเองว่าวางตรงนี้สวยก็จะวางไปเลย แต่หลังจากเข้าค่าย วางไปแล้วเราต้องคิดว่ามันจะใช้ได้จริงๆ หรือเปล่า มันควรจะอยู่ตรงนี้จริงๆ หรือเปล่า คือต้องคิดถึงผู้ใช้ด้วย"
ซึ่งแน่นอน ในสังคมของเด็กคอม โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ที่ทุกคนเป็นเพื่อนพี่น้องที่สนิทและทำงานด้วยกัน บทเรียนที่ 3 สาวได้รับจากโครงการ ย่อมจะต้องถูกส่งต่อไปยังรุ่นน้องๆ ต่อไปแน่นอนก้าวต่อไปสู่วันพรุ่งนี้
ถึงวันนี้ Sarapao Millionaire ของอุ้ม-ไอซ์-ภีร์ ได้ถูกพัฒนาจนสมบูรณ์ และเผยแพร่ให้ดาวน์โหลดฟรีแล้วทาง Google Play Store และ App Store IOS ถือเป็นความสุขที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง "ได้พัฒนาโปรแกรม แล้วมีความสุขทุกครั้งที่เห็นคนใช้งานโปรแกรมเราค่ะ" ภีร์กล่าวด้วยรอยยิ้ม
อนึ่งนั้น แม้ Sarapao Millionaire จะเดินทางถึงสุดเส้นชัย แต่คงไม่ห่วงว่า 3 สาวจะหนีหายไปไหน เพราะความฝันของพวกเธอยังโคจรอยู่ในวงรอบของสายงานด้านไอที ทั้งภีร์ที่ยังสนุกกับการเขียนโค้ด อุ้มที่ฝันอยากเดินทางไปในสายงานกราฟิก แม้แต่ไอซ์ ที่แม้จะมีความฝันอยากเป็นสัตวแพทย์ แต่ทั้งสามก็ยืนยันเป็นมั่นเหมาะ ว่าจะยังผลิตพัฒนาผลงานใหม่ๆ ออกมาแก้ปัญหาสังคมอีกแน่นอน
"อย่างไรก็ไม่ทิ้งงานด้านไอทีค่ะ เพราะเป็นงานที่ทำแล้วสบายใจ ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ทำได้เรื่อยๆ ได้เรียนรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอด" ไอซ์ปิดประโยคด้วยอมยิ้ม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit