คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ได้จัดงานครุวิชาการ ภายใต้ชื่อ "พระผู้ทรงเป็นแม่และครุแห่งแผ่นดิน" เป็นปีที่ ๔ ณ ห้องประชุมอาคาร ๑๐๐ ปี โดยในงานมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความสามารถของนักเรียน นิสิตนักศึกษา ครู และจัดเวทีเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ สู่การปฏิบัติ" ในมุมมองของนักวิชาการ ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และนักเรียน ได้รับความสนใจจากผู้เข้ารับฟังจำนวนมาก การเสวนามีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ด.ญ. ฐิตินาถ อ่อนเกตุพล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ นายอำนวย พุทธมี ผู้อำนวยการโรงเรียนพญาไท โรงเรียนนำร่อง "การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ของ สพฐ. ดร.จารุวรรณ พลอยดวงรัตน์ อาจารย์สาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเลขาธิการสมาคมพัฒนาวิชาชีพผู้บริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย และนางวันทนีย์ เลี้ยงพันธ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด มหาชน เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทุกฝ่ายขานรับลดเวลาเรียน เด็กแนะกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ ตัวแทนนักวิชาการ ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และนักเรียนในเวทีเสวนาฯ ต่างเห็นด้วยกับหลักการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างทักษะชีวิตและส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กสนุกและมีความสุขกับการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ที่สนองและสอดรับกับความต้องการของผู้เรียน ความถนัดของครู และความพร้อมเรื่องของทรัพยากรของโรงเรียนและพื้นที่ ดังที่ ด.ญ. ฐิตินาถ อ่อนเกตุพล ในฐานะตัวแทนนักเรียนได้แนะนำกิจกรรมที่จะสร้างความสนุกและความสุขแก่นักเรียน " กิจกรรมที่อยากทำในช่วงบ่าย เช่น กิจกรรมวาดรูป ร้องรำ เน้นเรื่องความสนุกสนานรื่นเริง หรือกิจกรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนเพื่อนๆ สนใจชมรมภาษาอังกฤษ ชมรมกีฬาเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพทางร่างกายให้แข็งแรงและมีน้ำใจนักกีฬา และอื่นๆ"
ผู้ปกครอง ห่วงรอยต่อระหว่างช่วงชั้น ด้านนางวันทนีย์ เลี้ยงพันธ์ ได้สะท้อนความเห็นจากมุมมองผู้ปกครองที่ติดตามการดำเนินการจัดกิจกรรมตามนโยบายดังกล่าวว่า ยังคงแสดงความกังวลกับระบบการวัดประเมินผลของช่วงรอยต่อในระดับที่สูงขึ้นว่ายังไม่มีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบ "เห็นด้วยการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แต่ลึกๆ ช่วงรอยต่อระหว่างประถมขึ้นม. ๑ ช่วงม.๖ เข้ามหาวิทยาลัย ยังไม่แน่ใจว่าระบบการศึกษาทั้งหมดจะรองรับการสอบแข่งขันดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากการสอบแข่งขันค่อนข้างสูง แต่ด้วยระบบของการศึกษาไทย จริงๆ แล้ว ลดระยะเวลาเรียนช่วยส่วนหนึ่ง แต่จะตอบโจทย์สังคมไทยและจะสามารถหล่อหลอมทั้งระบบให้ไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างไร" สอดคล้องกับ ดร.จารุวรรณ พลอยดวงรัตน์ ที่เสริมว่า "...สพฐ. จะต้องคิดกับระบบการประเมินผลและปลดล็อคระบบการเข้ามหาวิทยาลัยต่อไป"
"ครูใหญ่" ชี้แต่ละพื้นที่สู่การปฏิบัติแตกต่างกัน นายอำนวย พุทธมี ผู้อำนวยการโรงเรียนพญาไท ได้แสดงความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ สู่การปฏิบัติจริงว่ามีความแตกต่างกันไปตามบริบทความต้องการของเด็ก ครู และเป้าหมายของแต่ละโรงเรียน "...บริบทของความพร้อมแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นในเรื่องของกิจกรรมลดเวลาเรียนฯ การจะนำกิจกรรมมาทุกโรงเรียนทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมและบริบทของโรงเรียน การนำสู่การปฏิบัติจึงต้องเปิดช่องให้โรงเรียนได้คิดหรือสร้างสรรค์กิจกรรมตามความพร้อมของโรงเรียนด้วย" และยังกล่าวต่ออีกว่า กิจกรรมนี้ผู้บริหารเป็นหัวใจหลักในการสร้างความตระหนักและเชื่อมประสานความร่วมมือจากครู ผู้ปกครองและชุมชน "สำหรับโรงเรียนพญาไท เราให้ความรู้ครูทั้งโรงเรียนในช่วงปิดเทอม โดยเชิญศึกษานิเทศก์ Smart Trainer จากทาง สพฐ. มาให้ความรู้ความเข้าใจ...นัดประชุมผู้ปกครองเพื่อชี้แจงให้ทราบความเคลื่อนไหว...ซึ่งฝ่ายบริหารจะช่วยในเรื่องเตรียมข้อมูลและเอกสารฯ หรือสื่อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ...เราจะต้องสนับสนุนในเรื่องงบประมาณเพื่อเสริมสร้างกิจกรรมต่างๆให้ดำเนินได้อย่างสะดวก.."
ยึดจิตวิญญาณ บรูณาการสอน ปฏิรูปครู เสริมทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ในส่วนของตัวแทน ในฐานะผู้ผลิตครูจากคณะศึกษาศาสตร์ มศว ชี้ว่า จิตวิญญาณความเป็นครูเป็นสิ่งสำคัญ คือ ครูรักเด็ก เด็กสัมผัสได้ นำไปสู่พัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ปฏิรูปการสอนครูของครูโดยบูรณาการการสอนให้สอดรับกับนโยบายและมาตรฐานการเรียนรู้ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับเพื่อนร่วมวิชาชีพครูทุกฝ่าย " ครูจะลดความเป็นตัวตนลง และประสานความร่วมมือกับครูในสาขาวิชาอื่นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงบูรณาการกับเด็กและครู กิจกรรมดังกล่าวทำให้เกิดความสุขในการเรียนรู้ร่วมกัน...การเติมเต็ม 5F (Fun, Find, Focus, Fantastic) การเรียนรู้ทักษะชีวิต และทักษะในศตวรรษที่ ๒๑..." ดร.จารุวรรณ พลอยดวงรัตน์ กล่าว