เท่ อินเด็กซ์ ให้เอกชน 'ผ่าน’ คาบเส้น ช่วยเศรษฐกิจโต แต่ยังหวั่น เก๋าโกง ก็อปเก่ง ไอเดียกุด

28 Jan 2016
สภาปัญญาสมาพันธ์ เผยผลสำรวจประสิทธิผลภาคเอกชน ภาพรวมประชาชนให้พอผ่าน พอใจช่วยเศรษฐกิจโต ตอบสนองผู้บริโภค แต่ยังด้อยเรื่องสร้างนวัตกรรม สร้างธุรกิจใหม่ มองว่ายังมีติดสินบน และรับผิดชอบสังคมไม่ดีพอ
เท่ อินเด็กซ์ ให้เอกชน 'ผ่าน’ คาบเส้น ช่วยเศรษฐกิจโต แต่ยังหวั่น เก๋าโกง ก็อปเก่ง ไอเดียกุด

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสภาปัญญาสมาพันธ์ และประธานอำนวยการบริหารจัดทำดัชนีฯ ประสิทธิผลประเทศไทย (TE Index) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อประสิทธิผลภาคเอกชนประเทศไทย (Thailand's Private Sector Effectiveness Index : PVE Index) ในภาพรวมทุกด้าน ประชาชนให้คะแนนภาคเอกชนระดับกลาง ร้อยละ 61 เรียกว่า พอสอบผ่าน

จากการสำรวจ 3 หมวด พบว่า ประชาชนยอมรับว่า ภาคเอกชนมีบทบาทช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดี จากความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ โดยในหมวดด้านการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้คะแนนสูงสุด 62.4% เทียบกับหมวดด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ได้ 61% และหมวดด้านสถาบันภาคเอกชน ได้คะแนนต่ำสุด 59%

เมื่อวิเคราะห์รายด้าน ในหมวดด้านการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่า ภาคเอกชนสามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ดี ทั้งด้านการผลิตสินค้าและบริการ มีค่าดัชนี 67.8% แม้ว่ายังมีข้อด้อยในการบริหารทรัพยากร (59.5%) การสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (60%) มีจุดอ่อนในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ความสามารถในการสร้างธุรกิจใหม่ และปรับตัวต่อสถานการณ์ทางธุรกิจยังได้ไม่ดีพอ

ในหมวดความรับผิดชอบต่อสังคม แม้ว่าประชาชนจะมองว่า ภาคเอกชนค่อนข้างปฏิบัติตามกฎหมาย มีการช่วยเหลืองานสาธารณะ การเปิดเผยอย่างโปร่งใสของข้อมูล การใส่ใจต่อผู้บริโภค โดยมีค่าดัชนีร้อยละ 60 ขึ้นไป แต่ขณะเดียวกัน กลับให้คะแนนต่ำในประเด็น คอรัปชั่น ความรับผิดรับชอบ การรณรงค์เชิงสังคม โดยมีค่าดัชนี 58.7%, 58.8% และ 58.9% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจยังถูกมองว่ามีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อธุรกิจสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมแล้วรับผิดชอบไม่เพียงพอ และไม่ได้เชิญชวนให้ประชาชนสนใจในปัญหาสังคม อาจเป็นเพราะว่า ทั้งสามประเด็นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบกับผู้บริโภคโดยตรง

ส่วนในหมวดสถาบันเอกชน ซึ่งมีค่าดัชนีต่ำสุด ผลสำรวจประชาชนยังมองว่า ภาคเอกชนมีจุดอ่อน ด้านการสร้างนวัตกรรม ซึ่งได้คะแนนเพียง 57.9% และด้านความเป็นผู้ประกอบการ ได้คะแนน 58.6% แสดงให้เห็นว่า องค์การธุรกิจไทยยังคงมีจุดอ่อนในความสามารถในการแข่งขันระยะยาว เพราะมีการสร้างนวัตกรรมได้น้อย ความเป็นผู้ประกอบการมีน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้เกิดคุณลักษณะดังกล่าว

ข้อสังเกตประการหนึ่ง เมื่อพิจารณากลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุต่างกันจะให้ผลประเมินแตกต่างกัน ในประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม โดยกลุ่มตัวอย่างในช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปี มองธุรกิจว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม มากกว่า กลุ่มอายุเกิน 60 ปี ซึ่งมองว่าธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมน้อย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะภาคธุรกิจทำกิจกรรม CSR กับกลุ่มเยาวชนมากกว่า หรือใส่ใจในกลุ่มผู้สูงอายุน้อยเกินไป ดังนั้นธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับผู้สูงอายุให้เพิ่มขึ้น

การรับรู้ของประชาชนที่มีต่อภาคเอกชนจากผลการสำรวจนี้ คงช่วยให้ ภาคเอกชนกลับไปประเมินตนเอง ในด้านต่าง ๆ ที่ยังเป็นจุดอ่อน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและความอยู่รอดขององค์กร เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศโดยรวมต่อไป