สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนหลักนั้น ตามที่ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรติดตามสภาพอากาศและเตรียมพร้อมที่จะออกปฏิบัติการฝนหลวงทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย ซึ่งจากการคาดการณ์สภาพอากาศเมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมาพบว่า ระหว่างวันที่ 20 – 24 มกราคม 2559 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน อีกทั้งมีกระแสลมฝ่ายตะวันตกในระดับสูงจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ และมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สภาพอากาศเช่นนี้เป็นโอกาสดีเอื้ออำนวยที่จะทำฝนบริเวณภาคกลางได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 1 ชุด ในวันที่ 20 มกราคม 2559 และเพิ่มเติมในวันที่ 22 มกราคม อีก 1 ชุด เข้าประจำการที่สนามบินนครสวรรค์ ประกอบด้วย ชุดที่ 1 มีเครื่องบิน CASA จำนวน 2 เครื่อง ชุดที่ 2 มีเครื่องบิน Caravan จำนวน 2 เครื่อง ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำลงในพื้นที่ลุ่มรับน้ำป่าสักชลสิทธิ์ ลุ่มน้ำทับเสลา และลุ่มน้ำลำตะคอง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์และบางส่วนของลพบุรี ซึ่งจากการปฏิบัติการพบว่ามีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ วันละประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้ฝนหลวงติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากสภาวะอากาศเหมาะสมก็พร้อมปฏิบัติการทันที
"หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วเป็นการปฏิบัติการเฉพาะกิจ นอกแผนปฏิบัติการและระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่ต่อเนื่อง (ตามการคาดหมายลักษณะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา) โดยใช้เครื่องบินฝนหลวงซึ่งปัจจุบันได้ประจำการอยู่ที่สนามบินนครสวรรค์เพื่อการซ่อมบำรุงและการฝึกบินทบทวนของนักบินประจำปี ทั้งนี้ เมื่อได้รับรายงานถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในพื้นที่เป้าหมายซึ่งอาจจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 2 – 5 วัน เช่น เมื่อวันที่ 25 - 26 ม.ค. สภาพอากาศก็ไม่สามารถทำฝนหลวงได้ แต่ชุดปฏิบัติการข้างต้นจะออกปฏิบัติการในพื้นที่ดังกล่าวทันที เมื่อเสร็จภารกิจ ชุดปฏิบัติการจะกลับประจำการ ณ สนามบินนครสวรรค์ตามเดิม" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด ว่า (26 ม.ค. 59) ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อน(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น จำนวน 10,197 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯรวมกัน 5.48 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มีการใช้น้ำรวมกันประมาณวันละ 17.90 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำใช้การได้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 59 รวมกันจำนวน 3,501 ล้านลูกบาศก์เมตร (แผนการใช้น้ำระหว่าง 1 พ.ย. 58 – 30 มิ.ย. 59)
ขณะที่ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2558/59 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 ถึงปัจจุบัน(26 ม.ค. 59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,367 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของแผนการจัดสรรน้ำฯ(แผนกำหนดไว้ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร) คงเหลือน้ำใช้การได้ถึงเดือนเมษายน 59 ประมาณ 1,533 ล้านลูกบาศก์เมตร (การส่งน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. – 30 เม.ย. ของทุกปี)
ทั้งนี้ ในส่วนการของเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,772,000 ไร่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับปี 57/58 อันเนื่องมาจากการรณรงค์ของกระทรวงเกษตรฯ และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งนี้ ยังคงย้ำขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอดในช่วงฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย
ในส่วนของ ผลการจ้างแรงงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ ล่าสุด(ณ 21 ม.ค. 59) กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจ้างแรงงานไปแล้ว จำนวน 68,025 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 1,084.86 ล้านบาท จำแนกตามลุ่มน้ำได้ ดังนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 18,114 คน ลุ่มน้ำแม่กลอง 4,337 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 45,574 คน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit