พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร หรือยโสธรโมเดลด้านเกษตรอินทรีย์ครอบคลุมทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ พร้อมผลักดันให้จังหวัดยโสธรเป็นต้นแบบการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป จนถึงการตลาด ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนายกระดับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือ"ออร์แกนิก"ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและตลาดโลก ซึ่งในปี 2560 คาดว่า จะสามารถพัฒนาพื้นที่จังหวัดยโสธรเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นจาก 40,000 ไร่ เป็น 100,000 ไร่ และยังมีเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 % ต่อปีด้วย
สำหรับยโสธรโมเดลด้านเกษตรอินทรีย์มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปีตั้งแต่เดือนมกราคม 2559-มกราคม 2562 โดยกระทรวงเกษตรฯและจังหวัดยโสธรจะร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เบื้องต้นจังหวัดยโสธรจะสำรวจข้อมูลรายชื่อกลุ่มเกษตรกรที่เข้าสู่ระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว และกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพในการพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จากนั้นจะร่วมกับกระทรวงเกษตรฯจัดทำแผนพัฒนากลุ่มเกษตรกรที่เหมาะสมกับศักยภาพและความต้องการของแต่ละกลุ่ม
"ทั้งสองหน่วยงานมีแผนเร่งสนับสนุนการพัฒนากลุ่มเกษตรอินทรีย์เดิม จำนวน 9 กลุ่ม เกษตรกรสมาชิกรวมกว่า 2,100 ราย ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นกลุ่มต้นแบบและเป็นศูนย์ เรียนรู้ในพื้นที่ โดยจะสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำ ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมถึงแหล่งทุน และเชื่อมโยงด้านการตลาด สนับสนุนด้านโลจิสติกส์ ตลอดจนการแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ ขณะเดียวกันยังจะพัฒนากลุ่มใหม่ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้เข้มแข็งขึ้นเช่นกัน" รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าว
นอกจากนี้ จังหวัดยโสธรยังจะจัดตั้งโรงเรียนเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร เพื่อบ่มเพาะเกษตรกรเกษตรอินทรีย์รุ่นใหม่ หรือสร้างนิวเจนเนอเรชั่น (new generation) เพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งสนับสนุนระบบการตามสอบ (traceability) เช่น การใช้ QR Code ในการตามสอบสินค้า และร่วมกับจังหวัดยโสธรสนับสนุนพื้นที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ชนิดอื่น อาทิ พืชหลังนา ได้แก่ พืชปุ๋ยสด แตงโม พืชผัก และพืชสมุนไพร รวมถึงปศุสัตว์อินทรีย์ และสัตว์น้ำอินทรีย์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของชนิดสินค้าออร์แกนิกป้อนเข้าสู่ตลาดภายในประเทศ และผลักดันส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในอนาคต
ด้านนายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2559 นี้ส.ป.ก. ได้เร่งส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่แปลงใหญ่จังหวัดยโสธร 4 ตำบล ใน 2 อำเภอ พื้นที่เป้าหมาย ประมาณ 5,000 ไร่ ได้แก่ ตำบลกำแมด ตำบลโพนงาม และตำบลหนองแหน อำเภอกุดชุม รวมพื้นที่ 3,500 ไร่ และตำบลโคกสำราญ อำเภอเลิงนกทา ประมาณ 1,500 ไร่
โดยส.ป.ก.จะสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน องค์กรเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ที่เข้มแข็งอยู่แล้ว เช่น กลุ่มเกษตรกรทำนานาโส่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อสังคม และกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง และองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้สามารถปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล และสามารถจัดการสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
"ส.ป.ก.มุ่งส่งเสริมให้มีการทำเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืนในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินทั้ง 72 จังหวัด เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของเกษตรกร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมและผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร มุ่งให้เรียนรู้การจัดการเกษตรอินทรีย์ทุกขั้นตอนและสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริงในแปลงของตนเอง นอกจากนั้น ยังผลักดันให้เกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์นำฟาร์มเข้าสู่มาตรฐานสากล เพื่อให้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสามารถเข้าถึงตลาด ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรรายย่อยและทำให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพด้วย" เลขาธิการ สปก.กล่าวกลุ่มโฆษกและวิเคราะห์ข่าว กองเกษตรสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทร 02-2810859 แฟกซ์ [email protected]/kasetthai
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit