นางเสาวนีย์ โขมพัตร หัวหน้าผู้
ตรวจราชการกระทรวง และโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า หลังจาก
กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดทำโครงการฝึกอบรม "ชุดปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์แก้ไขปัญหา
ชุมชนริมคลอง" ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๒ มกราคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มความรู้และกำหนดแผนปฏิบัติการร่วมกันของชุดปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์แก้ไขปัญหาชุมชนริมคลอง และสามารถ นำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับจิตวิทยามวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ
เข้าใจเป้าหมาย ส่งผลให้
การดำเนินการจัดระเบียบชุมชนแออัดริมคลองและการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองของรัฐบาลมีประสิทธิภาพและ เห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น นั้น ล่าสุดชุดปฏิบัติการดังกล่าวจำนวน ๕ ชุดๆละ ๑๑ คน ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) (พอช.) สถาปนิกชุมชน ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขต ตำรวจ และทหาร ได้ลงพื้นที่ชุมชนริมคลองเพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านกรณีการสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ของกรุงเทพมหานคร และแผนงานด้านที่อยู่อาศัยรองรับประชาชนที่จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองและ แนวสร้างเขื่อนแล้ว โดยชุดปฏิบัติการจะใช้วิธีการลงพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นรายครอบครัว รวมทั้งจัดประชุมภายในชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจพร้อมกันไปด้วย และหากประชาชนมีข้อสงสัยในเรื่องใด เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ จะทำการชี้แจงให้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว เช่น เรื่องความจำเป็นในการสร้างเขื่อน การรองรับด้านที่อยู่อาศัย และแผนงานการดำเนินการช่วยเหลือของทางราชการ ฯลฯ
"ขณะนี้ชุดปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์ได้ลงพื้นที่ในเขตห้วยขวาง จตุจักร และสายไหม รวม ๖ ชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนแล้ว ส่วนชุมชนอื่นๆ จะเริ่มส่งชุดปฏิบัติการฯ ลงพื้นที่ต่อไป สำหรับเรื่องที่อยู่อาศัยชั่วคราว เพื่อรองรับประชาชนระหว่างการรื้อย้ายและสร้างบ้านใหม่นั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) (พอช.) ได้เจรจากับหน่วยงานเจ้าของที่ดินแล้ว เช่น ที่ดินของทหารบริเวณกองพลทหารราบที่ 11 เขตบางเขน ที่ดินของรถไฟฟ้ามหานครย่านพระรามเก้า และอาคารชุดของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ กระทรวงการคลัง ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถรองรับประชาชนได้ประมาณกว่า ๑,๐๐๐ ครอบครัว ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนงานการรื้อย้ายและก่อสร้างบ้านใหม่จะเริ่มในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เมษายน ๒๕๕๙ ส่วนการก่อสร้างเขื่อนคาดว่าบริษัทรับเหมาจะเริ่มงาน ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ โดยจะเริ่มงานในพื้นที่ริมคลองที่ไม่มีชุมชนหนาแน่นในเขตห้วยขวาง วังทองหลาง และลาดพร้าวความยาวประมาณ ๘ กิโลเมตร" นางเสาวนีย์ กล่าวในตอนท้าย