ป่าครอบครัวเพื่อการพึ่งพาตนเองและความมั่นคงทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมแก่ทุกภาคส่วนให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สพภ. ได้จัดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจาก อบจ. อบต ชุมชน ตำบล โรงเรียน วัด หน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐ ตลอดจนกลุ่มเครือข่ายต่างๆ โดยทำข้อตกลงร่วมกันในรูปแบบปฏิญญา (สมัชชา/ เสวนา) เพื่อให้ชุมชน ท้องถิ่น เกิดจิตสำนึกตระหนักถึงการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ พร้อมๆกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พื้นที่สีเขียว...ทรัพยากรชีวภาพของประเทศให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งในองค์ความรู้ การใช้ทรัพยากรของชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการดูแลรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ยั่งยืนสืบทอดต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
ผศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เล่าให้ฟังถึงป่าครอบครัว ที่ผ่านมาในเรื่องของทรัพยากรชีวภาพ จริงๆ ชาวบ้านมีแต่เดิม แต่ต่อมาวิถีสังคมเปลี่ยนมาเป็นสังคมเมือง และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็ว ชาวบ้านเลยไม่ได้สนใจในสิ่งที่ตนเองมี อย่างตอนเช้าก็ต้องรอรถพุ่มพวงในการซื้อของ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น เช่น เวลาซื้อพริก คนขายๆ เป็นกำ ซื้อมาแล้วก็ใช้ไม่หมด มีทั้งใช้และทิ้ง เลยคิดว่าเรื่องป่าครอบครัวน่าจะเป็นพื้นฐานในการทำให้ความหลากหลายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของครัวเรือนก็ยังดีอยู่ เพราะเราคิดว่าครอบครัวเป็นเซลล์เล็กๆ ในสังคม ถ้าเขาดูแลตัวเองได้ มีความตระหนักและเห็นความสำคัญ เมื่อดูแลป่าครอบครัวได้ ก็ขยับไปดูป่าชุมชนได้
ป่าครอบครัวเริ่มต้นอย่างไร หากจะขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ ให้มีพลัง ทำลำพังคงไม่ได้ ควรทำในรูปแบบสมัชชา... สมัชชาของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน BEDO เห็นว่า ก่อนที่จะให้ชาวบ้านอนุรักษ์ ชาวบ้านต้องสามารถยืนอยู่ได้ เลยเป็นที่มาของ...ป่าครอบครัว
ป่าครอบครัวคืออะไร ? แหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ในที่ดินที่ครอบครัวครอบครองอยู่ อาจเป็นพื้นที่ป่าดั้งเดิมที่ครอบครัวอนุรักษ์ไว้ให้เป็นป่าธรรมชาติ หรือเป็นพื้นที่ที่ครอบครัวพัฒนาขึ้นให้เป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพหรือมีสภาพที่ใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติ
โครงการ "ป่าครอบครัว" เป็นแนวคิดที่ครอบครัวนำพืชที่ชอบรับประทานหรือใช้ประโยชน์ พืชสมุนไพร หรือ ไม้ยืนต้นตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่มาปลูกในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่สวน ไร่ (ปลูกแซมหรือปลูกเสริม) โดยปลูกแบบไม่เป็นแถวเป็นแนวลักษณะเลียนแบบธรรมชาติ มีการเพาะปลูกให้เหมาะสมตามลักษณะและข้อจำกัดของพืชแต่ละชนิด ซึ่งเมื่อระยะเวลาผ่านไป จะมีพัฒนาการตามธรรมชาติในพื้นที่ที่ปลูก ไปสู่ระบบนิเวศอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น มีพรรณพืชใหม่ที่เกิดขึ้นอีกหลายชนิด จนกลายเป็นป่าครอบครัว ซึ่งจากระบบนิเวศที่สมบูรณ์ดังกล่าว จะทำให้แต่ละครอบครัวมีแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร และแหล่งไม้ใช้สอยที่สมบูรณ์อย่างเพียงพอ สร้างระบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ และสามารถนำผลิตผลที่เหลือจากการบริโภคของครอบครัวมาขายหรือนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยอาศัยองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือองค์ความรู้ใหม่มาใช้เป็นพื้นฐานในการผลิตและการพัฒนา ซึ่งจะนำไปสู่การลดรายจ่ายและสร้างรายได้ให้แต่ละครอบครัวได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป
สำหรับผู้ที่สนใจโครงการสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bedo.or.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit