สำหรับไฮไลท์สำคัญของงานที่ทุกท่านไม่ควรพลาด คือ มหัศจรรย์สิ่งมีชีวิต โดยจัดแสดงสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบใหม่ ของโลก สัตว์ที่พัฒนาสายพันธุ์-ปรับปรุงพันธุ์ใหม่ ความมหัศจรรย์ของสัตว์เล็กจิ๋ว คุณสมบัติทางยาขั้นเทพ ที่ทุกท่านจะต้องทึ่ง อาทิ ปลาค้อชนิดใหม่ของโลก... ปลาน้ำจืดตัวเล็กดัชนีชี้ความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำและผืนป่า ปลาบึกสยาม... ปลาหนังลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่...ตั๊กแตนพันธุ์ใหม่ของโลก ชันโรงผึ้งจิ๋วมหัศจรรย์..ผึ้งจิ๋วขยัน สื่อผสมเกสรสร้างเงินล้านให้เกษตรกร ไก่กระดูกดำ..อาหารยาอายุวัฒนะ.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้ค้นพบปลาค้อ กล่าวว่า "ร่วม 20 ปี ที่ผมและทีมงานได้ออกปฏิบัติการสำรวจชนิดของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะปลาในลุ่มน้ำภาคเหนือเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นมรดกแก่ประเทศชาติ โดยเก็บรวบรวมตัวอย่างไว้ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาทางน้ำแม่โจ้ โดยเฉพาะจำพวกปลาค้อ ปลาชนิดนี้กินแมลงน้ำและตะไคร่น้ำเป็นอาหาร ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ต้องอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่สะอาด เช่นบริเวณแหล่งที่เป็นต้นน้ำ หรือลำธารบนภูเขาสูง ปลาค้อจึงเป็นมาตรวัดค่าคุณภาพของสภาพแวดล้อมชนิดหนึ่งและไม่มีการแพร่กระจายพันธุ์ในพื้นที่อื่น นอกจากลุ่มน้ำแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ลุ่มน้ำน่าน จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของประเทศไทย
และเมื่อปี 2555 เราได้พบปลาค้อชนิดใหม่มีลักษณะลายคล้ายเสือ ในลุ่มน้ำแม่แจ่ม ยังไม่เคยพบที่ไหนมาก่อนเลยได้ให้ชื่อเป็นเกียรติมหาวิทยาลัยในโอกาสที่มีอายุครบ 77 ปี ว่า "ปลาค้อลายเสือแม่โจ้" จากนั้นในปี 2556 ได้สำรวจพบปลาค้อชนิดใหม่ที่มีลักษณะโดดเด่น และได้รับพระราชทาน พระอนุญาตจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราช-กุมารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ทรงมีพระกรุณาธิคุณยิ่งแก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ใช้พระนามเป็นชื่อพันธุ์ปลาค้อพันธุ์ใหม่ ว่า "ปลาค้อเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์" และล่าสุดเมื่อปี 2558 ได้ค้นพบปลาค้อชนิดใหม่อีกชนิดจากลุ่มน้ำน่าน มีลักษณะเด่นมีเกล็ดปกคลุมตลอดทั้งลำตัว และเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงขอพระราชทานนามชื่อพันธุ์ปลาค้อที่ค้นพบใหม่นี้ว่า "ปลาค้อสมเด็จพระเทพ" ซึ่งพระองค์ท่านทรงพระราชทานพระราชานุญาต และให้ทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ทั้งการขยายพันธุ์และการอนุรักษ์ เพื่อจัดทำรายงานกราบบังคมทูลประกอบพระราชดำริต่อไป ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัยแม่โจ้อย่างหาที่สุดมิได้"
ในงานวันเกษตรแห่งชาติ 2559 ท่านที่มาร่วมงานจะได้ชม ศึกษา เรียนรู้วงจรชีวิต ร่วมอนุรักษ์ปลาตัวเล็กที่มีคุณค่าต่อแหล่งน้ำและผืนป่า ซึ่งปลาค้อที่นำมาจัดแสดงเป็นปลาค้อพันธุ์ใหม่ของโลกที่เพิ่งค้นพบทั้ง 3 ชนิดนี้ มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร ทำไมเราต้องอนุรักษ์ มาหาคำตอบกันได้ในงานวันเกษตรแห่งชาติ 2559
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน อาจารย์/นักวิจัย คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ กล่าวว่า "ปลาบึก เป็นปลาที่ได้รับความนิยมบริโภค มีราคาสูง แต่ปลาบึกในธรรมชาติมีแนวโน้มจะสูญพันธุ์ ปลาบึกสยามแม่โจ้ จึงเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่ของผู้บริโภคและเกษตรกร ปลาบึกสยามเป็นปลาลูกผสมรุ่นที่ 2 ที่พัฒนามาจากพ่อปลาลูกผสมที่เกิดจากพ่อปลาบึกจากบ่อเลี้ยงรุ่นที่ 2 กับปลาสวาย ปลาบึกสยามเป็นปลาที่รวมลักษณะที่ดีของปลาบึกและปลาสวายเข้าด้วยกัน คือเป็นปลาที่เจริญเติบโตในการเลี้ยงหนาแน่นได้เช่นในกระชังหรือบ่อดิน มีปริมาณเนื้อแน่นและมาก เนื้อมีสีขาวอมชมพู มีความดกไข่และเจริญพันธุ์ได้เร็วและดี และมีพันธุกรรมเป็นปลาเลี้ยงและมีลักษณะเฉพาะต่างกับปลาบึกและสวาย ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากทั้งในประเทศและต่างประเทศในรูปปลาแล่เนื้อแช่แข็ง มีคุณค่าอาหารสูง มี โอเมก้า 3,6และ9 และแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู ส่งผลดีต่อผู้มีอาชีพการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด เศรษฐ์กิจและสังคมของประเทศ ตลอดจนช่วยรักษาทรัพยากรปลาที่สำคัญในเชิงอนุรักษ์เช่นปลาบึกได้ต่อไป"
บึกสยามแม่โจ้ เป็นงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จจนมีรางวัลระดับนานาชาติ ได้รางวัลเหรียญเงิน และ รางวัล Special Award งาน 8th International Warsaw Invention Show (IWIS2014) ณ เมืองวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ซึ่งท่านจะได้พบกับปลากบึกตัวเป็นๆ ชมนิทรรศการวิวัฒนาการกว่าจะเป็น ปลาบึกสยามแม่โจ้ พร้อมชิมเมนูปลาบึก อาหารเพื่อสุขภาพหลากหลายเมนู ในงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2559
อาจารย์ ดร. แหลมไทย อาษานอก ผู้นำทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ฯ กล่าวว่า "การค้นพบ "ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ (Anasedulia maejophrae)" ในครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกของการศึกษาทางอนุกรมวิธานของตั๊กแตนในประเทศไทยอย่างจริงจัง นอกจากนั้นตั๊กแตนสกุลใหม่ของโลกนี้ ณ ปัจจุบันยังพบได้เพียงแค่ในพื้นที่ป่าเต็งรังภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ เท่านั้น และยังพบว่าเป็นสกุลเฉพาะถิ่น (endemic) ของประเทศไทยอีกด้วย จึงควรส่งเสริมให้มีการศึกษาในเชิงลึกต่อไป การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าการอนุรักษ์ป่าให้คงอยู่ย่อมสามารถอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ แม้มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จะมีผืนป่าอนุรักษ์เพียงเล็กน้อยยังสามารถค้นพบตั๊กแตนสกุลใหม่ของโลกได้ ดังนั้นหากช่วยกันรักษาผืนป่าขนาดใหญ่ของชาติให้คงอยู่ ย่อมสามารถรักษาความหลากหลายของสรรพชีวิตได้อย่างมากมายและยั่งยืนต่อไป"
"ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ ตั๊กแตนสายพันธุ์ใหม่ของโลก" จะจัดแสดงนิทรรศการให้ชมในงานวันเกษตรแห่งชาติ 2559
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit