สถาบันสิ่งทอฯ ส่งผู้ประกอบการสิ่งทอ 5 จังหวัดชายแดนใต้ สร้างสรรค์คอลเลคชั่นใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการผลิตภัณฑ์แฟชั่นมุสลิมในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว

01 Feb 2016
สถาบันสิ่งทอฯ สบช่องจังหวัดกระบี่ปั้นเมืองฮาลาลรับนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก ส่งผู้ประกอบการสิ่งทอ 5 จังหวัดชายแดนใต้ สร้างสรรค์คอลเลคชั่นใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการผลิตภัณฑ์แฟชั่นมุสลิมในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว คู่ขนานยุทธศาสตร์เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน
สถาบันสิ่งทอฯ ส่งผู้ประกอบการสิ่งทอ 5 จังหวัดชายแดนใต้ สร้างสรรค์คอลเลคชั่นใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการผลิตภัณฑ์แฟชั่นมุสลิมในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว

28 ม.ค.59 ที่ดาหลาบาติก อ.เมือง จังหวัดกระบี่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอสานต่อผลสำเร็จ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ระยะที่ 4 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รุกขยายผลแนวคิด Co-Design ดึง 3 นักออกแบบระดับแนวหน้าจาก ไทย-มาเลเซีย ร่วมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แบรนด์ LAWA@THTI คอลเลคชั่นใหม่ หวังตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่าสำหรับปี 2559 ทางสถาบันฯ ยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับผู้ประกอบการสิ่งทอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมยกระดับการพัฒนาแฟชั่นมุสลิมภายใต้แนวคิด "Co-Design" หลอมรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคอาเซียนเข้าด้วยกัน โดยดึง 3 นักออกแบบชื่อดังจากประเทศทั้งในไทย และในภูมิภาคอาเซียน คือ 1)นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบไทยระดับแนวหน้าของประเทศ ที่ชนะเลิศรางวัลยอดเยี่ยมจากเวทีประกวดแฟชั่นระดับโลก MANGO Fashion Awards ณ ประเทศสเปน ปี 2012 และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ 2) คุณศักดิ์จิระ เวียงเก่า นักออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และงานผ้าสำหรับของตกแต่งบ้าน ที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นและมีสไตล์เฉพาะตัว ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการสิ่งทอไทยที่ประสบความสำเร็จด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านงานแสดงสินค้าต่างๆ จนผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และสุดท้ายกับนักออกแบบจากประเทศมาเลเซีย Mr.Eric Choong หนึ่งในสิบสุดยอดนักออกแบบชื่อดังจากประเทศมาเลเซีย มีจุดเด่นด้านการดีไซน์เสื้อผ้าที่เต็มไปด้วยสีสัน ลูกเล่น ผสมผสานอย่างลงตัวกับการตัดเย็บที่ยังคงใช้เทคนิคแบบดั้งเดิม ซึ่งทั้ง 3 นักออกแบบจะร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานในแบรนด์ LAWA@THTI ร่วมกับผู้ประกอบการ จำนวน 3 คอลเลคชั่น 30

ผลิตภัณฑ์ต้นแบบภายใต้ แบรนด์ LAWA@THTI ในปี 2559 นี้ มีจำนวน 3 คอลเลคชั่น คือ

คอลเลคชั่น ที่ 1 Indigo Paisley ออกแบบโดย คุณศักดิ์จิระ เวียงเก่า

ลาย Paisley หรือลายลูกน้ำถือกำเนิดจากประเทศอินเดียโบราณ โดยได้แนวคิดจากรูปทรงของผลมะม่วง ซึ่งหมายถึงการเจริญเติบโต งอกงาม หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาคลี่คลาย ลวดลายสู่สากลอย่างแพร่หลาย มีการผสมผสานลายอื่นๆเข้าไป เกิดเป็นลายแปลกใหม่และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตราบเท่าทุกวันนี้ จากแนวคิดดังกล่าว จึงได้นำเอาลายลูกน้ำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบของคอลเลคชั่นนี้ โดยผสมผสานเทคนิคการทำลวดลายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น บาติก พิมพ์บล็อกเทียน เพ้นท์มือ เข้าด้วยกัน โดยโครงสีส่วนใหญ่ จะใช้สีน้ำเงินกรมท่า-ขาว ซึ่งเป็นสีสุภาพใช้ได้ทุกโอกาส โครงเสื้อยังคงเป็นมุสลิมร่วมสมัย สามารถดัดแปลงให้คนทั่วไปสวมใส่ได้ mix & matchกับเสื้อผ้าลำลองได้อย่างลงตัว สวยงามคอลเลคชั่นที่ 2 "HEAVEN and EARTH" ออกแบบโดย Mr.Eric Choong

การนำจิตวิญญาณเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงานด้วยการค้นหาแรงบันดานใจจากสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่นความสวยงามของท้องฟ้าในแต่ละช่วงเวลา หรือจะเป็นการเติบโตของต้นไม้บนพื้นดิน รวมไปถึงการเรียนรู้พฤติกรรมของผู้คน ตั้งแต่รูปแบบการสวมใส่ไปจนถึงวิธีการซักทำความสะอาดเสื้อผ้า นำมาหลอมรวมสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานคอลแลคชั่นใหม่ ภายใต้แนวคิด "HEAVEN and EARTH"

สำหรับคอลเลคชั่นนี้สื่อสะท้อนให้รับรู้ถึงอารมณ์อิสระระหว่างการท่องเที่ยว โดยนำประสบการณ์และแรงบันดาลใจของดีไซน์เนอร์ขณะเดินทางค้นหาแรงบันดาลใจในภูมิภาคเอเชีย ผสมผสานเข้ากับจุดเด่นของผ้าบาติกในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไทย, อินโดนีเซีย, อินเดีย, กัมพูชา และเวียดนาม ที่สำคัญคอลเลคชั่นนี้ยังหยิบยกองค์ประกอบอันสวยงามจากที่ต่างๆ ทั้งต้นไม้, สายน้ำ หรือแม้แต่ใบไม้ นำมาถ่ายทอดแนวคิดด้วยการออกแบบจนออกมาเป็นลายเส้นและการพิมพ์

คอลเลคชั่นที่ 3 REFLECTION OF THE SEA ออกแบบโดย นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข

ภาพของคลื่นซัดหาดทรายและแสงตกกระทบของพระอาทิตย์ก่อนลับขอบฟ้า เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของ WISHARAWISH จากสีสันของทะเลยามเย็นแต่งแต้มความงดงามของธรรมชาติ ผ่านความคิดและกระบวนการออกแบบเสื้อผ้าสไตล์ Resort โดยร่วมกับการใช้เทคนิคการทำบาติกของผู้ประกอบการในภาคใต้ สร้างผลงานที่พัฒนาจากแรงบันดาลใจของลายคลื่นน้ำทะเล วาดเป็นลวดลายลงบนผืนผ้าและการทดลองเทคนิคการมัดย้อม จากสีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชายทะเลยามเย็น สีน้ำเงิน ฟ้าคราม ม่วง ชมพู ส้ม และเหลือง เพิ่มเทคนิคการปักเลื่อมใส่ทับลงบนลายผ้า เพื่อเกิดการสะท้อนของแสงตกกระทบที่คลี่คลายมาจากฟองคลื่น เกิดเป็นผลงานที่พัฒนาร่วมกันของนักออกแบบและผู้ประกอบการเพื่อการสร้างสรรค์และต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางหัตถกรรม

"สิ่งสำคัญที่มุ่งเน้นคือการออกแบบที่มีการผสมกลมกลืนระหว่างแนวคิดการออกแบบกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความสวยงามของธรรมชาติในภูมิภาคอาเซียน พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สัมผัสกับนักออกแบบนานาชาติ สามารถเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ด้านการทำงานและการออกแบบ นำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น " นางสุทธินีย์กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมฯ ได้ที่สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 พระโขนง คลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 400 หรือเข้าไปที่ www.muslimthti.org, www.thaitextile.org/muslim

HTML::image( HTML::image( HTML::image(