ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทในการควบคุมป้องกันการแพร่โรคมาลาเรีย ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนใช้วัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงนำเชื้อมาลาเรียกัด การเปิดให้บริการมาลาเรียคลินิกเป็นหนึ่งในมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคมาลาเรียในพื้นที่ที่มียุงเป็นพาหะอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักให้กับประชาชนในการป้องกันโรคมาลาเรีย
มาลาเรียคลินิก บริการตรวจเชื้อและรักษาฟรีให้แก่ผู้ป่วยในชุมชนและหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่จังหวัดตามแนวชายแดน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เน้นการรักษาที่รวดเร็ว ช่วยลดความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิต เพื่อลดจำนวนแหล่งแพร่เชื้อให้ได้มากที่สุด เน้นประชาชนทุกกลุ่มอายุ ทั้งที่มีบ้านพักอาศัยในพื้นที่ที่ไม่มีการแพร่เชื้อและในพื้นที่ที่มีการแพร่เชื้อสูงซึ่งอยู่ตามชายแดน ได้แก่ กลุ่มคนที่มีการเคลื่อนย้าย กลุ่มคนที่มีอาชีพสัมพันธ์กับป่า แรงงานต่างชาติ มีการให้บริการทั้งคนไทยและต่างชาติ
มาลาเรียคลินิกให้บริการในพื้นที่จังหวัดสงขลา ณ หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 3 อำเภอสะเดา โทรศัพท์ 0-7444-1044 หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 4 อำเภอนาทวี โทรศัพท์ 0-7437-1535 หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 5 อำเภอเทพา โทรศัพท์ 0-7447-8564 หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 6 อำเภอสะบ้าย้อย โทรศัพท์ 08-9296-4989 และในพื้นที่จังหวัดสตูล ณ หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 7 อำเภอควนกาหลง โทรศัพท์ 0-7479-7096 โดยเปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น. หยุดวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ดร.นพ.สุวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไข้มาลาเรีย มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมีมากบริเวณภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนที่อาศัยหรือเดินทางไปพักค้างคืนในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียหรือตามป่าเขา ต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัด นอนในห้องที่มีมุ้งลวดหรือมุ้ง และทายากันยุง หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง หลังจากถูกยุงกัด 10 -14 วัน ให้คิดว่าอาจเป็นโรคมาลาเรีย ให้รีบไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว หากล่าช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit