ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ออกใบอนุญาตให้กับผู้ชนะการประมูลคลื่น 1800 MHz ทั้งสองราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทรู มูฟ เอซ ยูนิเวร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ล่าสุดเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ได้เปิดตัวรายการส่งเสริมการขายใหม่ที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนเทคโนโลยี 4G บนย่านความถี่ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยนำเสนอโปรโมชั่นแบบรายเดือน (Postpaid) จำนวน 3 แพ็คเกจหลัก ได้แก่ แพ็คเกจ AIS 4G Max Speed แพ็คเกจ AIS 4G Multi และแพ็คเกจ AIS 4G Share ซึ่งเน้นให้บริการใช้งาน Data อย่างเต็มตัว โดยทั้ง 3 แพ็คเกจขายพ่วงบริการประเภทเสียง บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยเทคโนโลยี 3G และ 4Gรวมไปถึงบริการเสริมอื่นๆ เช่น บริการ Wi-Fi บริการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ และบริการภาพยนตร์ออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่าโปรโมชั่นดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาตด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ ตามประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โทรคมนาคมย่าน 1800 MHz กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการประเภทเสียง (Voice) และบริการข้อมูล (Data) ในอัตราต่ำกว่าค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ในวันที่ 25 สิงหาคม 2558 อีกทั้งยังต้องจัดให้มีรายการส่งเสริมการขายอย่างน้อย 1 รายการที่มีอัตราค่าบริการต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยบนคลื่นความถี่ย่าน 2100MHz และต้องคิดอัตราค่าบริการตามจริง และมีคุณภาพบริการไม่ต่ำกว่าคุณภาพบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่าน 2100 MHz ซึ่งจากการคำนวณอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการบนย่านความถี่ 2100 MHz วันที่ 25 สิงหาคม 2558 โดยสำนักงาน กสทช. พบว่า บริการประเภทเสียงอยู่ที่ 0.69 บาทต่อนาที ค่าบริการข้อความสั้น (SMS) 1.15 บาทต่อข้อความ ค่าบริการข้อความมัลติมีเดีย (MMS) 3.11 บาทต่อข้อความ และบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 0.26 บาทต่อเมกกะไบท์
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หรือ "หมอลี่" กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยว่า อัตราค่าบริการเฉลี่ยทั้งหมดทุกรายการส่งเสริมการขายของผู้ให้บริการจะเกินกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยที่กำหนดไว้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องยากที่ผู้ใช้บริการจะสามารถตรวจสอบได้ เพราะมีลักษณะเป็นการขายพ่วงบริการ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่สำนักงาน กสทช. ต้องดำเนินการติดตามตรวจสอบ และรายงานผลต่อสาธารณะเป็นระยะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจได้ว่าผู้ให้บริการไม่มีการผลักภาระให้กับผู้ใช้บริการจนต้องจ่ายค่าบริการในราคาที่แพงขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการเปิดตัวรายการส่งเสริมการขายของผู้ให้บริการ พบว่าเป็นรายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าบริการแบบเหมาจ่ายรายเดือนเท่านั้น ยังไม่พบว่ามีรายการส่งเสริมการขายอย่างน้อย 1 รายการตามที่ประกาศกำหนดว่าต้องคิดค่าบริการตามจริง ใช้งานเท่าไร จ่ายเท่านั้น ไม่ใช่การคิดค่าบริการแบบเหมาจ่าย รวมถึงต้องการันตีคุณภาพของบริการว่าต้องดีกว่าบริการบนคลื่นความถี่เดิมด้วย ซึ่งสำนักงาน กสทช. คงต้องเร่งติดตามผู้ให้บริการว่าจะสามารถออกรายการส่งเสริมการขายในลักษณะดังกล่าวได้เมื่อใดนอกจากนี้ นายประวิทย์ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รายการส่งเสริมการขายที่ออกมาไม่มี Fair Usage Policy (FUP) หรือไม่ได้ระบุว่าใช้งานไม่จำกัดเหมือนที่เคยมีในอดีต ทำให้เมื่อผู้ใช้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกินกว่าที่กำหนดไว้ในแพ็คเกจแล้วต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มจากเดิม ต่างจากในอดีตที่เมื่อใช้งานเกินกว่าแพ็คเกจแล้วความเร็วจะลดลง ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถใช้งานต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าบริการเพิ่ม การตัด FUP ออกจากรายการส่งเสริมการขายจึงเพิ่มความเสี่ยงที่ผู้ใช้บริการจะถูกคิดค่าบริการเพิ่มจากเดิมโดยไม่รู้ตัว หากผู้ให้บริการไม่มีระบบการแจ้งเตือนหรือ Credit Limit ที่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ
"โปรโมชั่นลักษณะนี้จะยิ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากให้กับสำนักงาน กสทช. ในการกำกับดูแลมากยิ่งขึ้น โดยสำนักงาน กสทช. ต้องกำกับอย่างเข้มงวดให้ผู้ให้บริการมีการแจ้งเตือนผู้ใช้งานทุกครั้งที่ปริมาณอินเทอร์เน็ตตามรายการส่งเสริมการขายใกล้หมด เพื่อให้ผู้ใช้งานรู้ตัวก่อนที่จะมีการคิดค่าบริการเพิ่ม รวมทั้งมีการแจ้งเตือนเป็นระยะๆ เป็นขั้นบันไดเมื่อมีการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้องกันปัญหาบิลช็อกที่อาจเกิดขึ้นตามมา ซึ่งก็ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้บริการก็สามารถป้องกันปัญหาได้ด้วยตัวเอง โดยติดตั้งแอพพลิเคชั่นตรวจสอบปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตและหมั่นตรวจสอบว่าปริมาณการใช้งานใกล้หมดแล้วหรือยัง รวมทั้งแจ้งจำกัดวงเงินการใช้งานผ่าน Call Center หรือที่ศูนย์บริการของผู้ให้บริการ เพื่อควบคุมยอดค่าใช้บริการไม่ให้บานปลาย" นายประวิทย์กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit