แสง-เงา และภาพวาด The Revenant – ต้องรอด

04 Feb 2016
ในผลงานที่ตามหลัง Birdman มาติดๆ ผู้กำกับอเลฮานโดร จี อินาร์ริตูนำเอาความหลงใหลต่อการทำหนังที่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันมาสู่โลกใหม่ใน The Revenant เขาและผู้กำกับภาพที่ร่วมงานกันมานาน เอมมานูเอล "ชิโว" ลูเบซกี ได้ตัดสินใจในประเด็นสำคัญหลายเรื่องตั้งแต่แรกๆ ซึ่งกลายมาเป็นกฎในการถ่ายทำ ประการแรก ทั้งสองตัดสินใจถ่ายทำหนังเรื่องนี้ตามลำดับเวลาเพื่อให้การเดินทางของกลาสไหลไปตามธรรมชาติ ประการที่สอง ทั้งสองตกลงถ่ายทำหนังเรื่องนี้โดยอาศัยเพียงแสงอาทิตย์และแสงจากดวงไฟโดยไม่ใช้อุปกรณ์ให้แสงสังเคราะห์จากช่วงศตวรรษหลังๆ และทำงานกับแสงตามธรรมชาติด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ สุดท้าย พวกเขาต้องการสำรวจช็อตยาวต่อเนื่องลื่นไหลซึ่งสร้างชื่อให้ทั้งสองแต่ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างจากใน Birdman
แสง-เงา และภาพวาด The Revenant – ต้องรอด

อินาร์ริตูมักจินตนาการภาพใน The Revenant ว่าเหมือนการทำให้ภาพวาดซึ่งเน้นแสงและเงาแบบ chiaroscuro มีชีวิตขึ้นมา "เช่นเดียวกับที่ Birdman ได้รับแรงบันดาลใจจากดนตรี" อินาร์ริตูกล่าว "หนังเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาด ชิโวรับบทบาทอันน่าทึ่งในการสร้างหนังเรื่องนี้ให้เป็นงานทัศนศิลป์"

ด้วยการทำงานกับกล้อง Arri Alexa 65 อันทันสมัย ซึ่งเป็นกล้อง large-format รุ่นใหม่เอี่ยมจากบริษัทกล้องดิจิตัลผู้นำการบุกเบิก ลูเบซกีใช้เลนส์กว้างหลายขนาดตั้งแต่ 12 มม. ไปจนถึง 21 มม. เพื่อสร้างความลึกเต็มที่ ความยืดหยุ่นของระบบนี้เอื้อต่อการเคลื่อนกล้องซึ่งบ่อยครั้งเปลี่ยนจากภาพโคลสอัพแบบแนบชิดไปเป็นภาพพานอรามาให้สอดคล้องกับแอ็คชัน ภาพความฝัน และอารมณ์ในหนัง ทีมงานใช้สามแนวทางผสมกัน คือ กล้องเลนส์ยาวบนเครน กล้องสเตดีแคม และกล้องที่ถือด้วยมือ เพื่อให้อินาร์ริตูสามารถเรียงลำดับภาพในภายหลังเหมือนเป็นผู้ออกแบบการเคลื่อนไหวร่วมกับนักตัดต่อรางวัลออสการ์ สตีเฟน เมอร์ริโอน

การใช้ภาพลองช็อตกับการถ่ายทำในพื้นที่รกร้างซึ่งคาดเดาไม่ได้เลยเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ความท้าทายนี้ชวนสับสนในตอนเริ่มแรก เพราะทีมงานอยู่ในคัลการีช่วงฤดูหนาวซึ่งช่วงกลางวันสั้นมากอยู่แล้ว ทีมงานต้องถ่ายทำในกรอบเวลาสั้นๆ และเผชิญความกดดันอย่างสูง ในแต่ละช็อตไม่มีใครแน่ใจได้ว่าการถ่ายทำเทคที่สองหรือเทคที่สามจะเป็นไปได้หรือไม่

"เราต้องวางแผนจังหวะเวลาทั้งหมด หาช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละวันจากนั้นก็ภาวนาให้สภาพอากาศคงที่" อินาร์ริตูกล่าว "เป็นเรื่องท้าทายและสนุกแต่ก็ต้องอาศัยเวลา การวางแผน และการฝึกซ้อมอย่างมากเพื่อให้ออกมาตามที่ต้องการ มีร่องรอยความดิบหยาบและบรรยากาศบางอย่างที่เราต้องการคงไว้ สภาพเงื่อนไขที่เรากำหนดไว้เฉพาะเจาะจงมาก เราจึงต้องอดทนมากๆ หรือไม่ก็ผลักดันและสร้างให้เกิดสภาพนั้นขึ้นมา ผมคิดว่าเรากลายเป็นนักวางกับดักในแบบของเราเอง เราวางกับดักล่อสถานการณ์แบบที่เราต้องการ"

The Revenant ไม่เพียงนำลูเบซกีมายังแดนตะวันตกแต่ยังมาสู่ภาพฝันในจิตใต้สำนึกของกลาสด้วย อินาร์ริตูอธิบายว่า "ในการเดินทางของกลาส ขณะที่เขาอยู่ตามลำพังและร่างกายเสื่อมถอยลง หนทางเดียวที่จะรู้ได้ว่าเขาเป็นใครในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก็คือการมองผ่านภาพจินตนาการและความฝันซึ่งช่วยให้เราได้รู้สภาพจิตใจและอดีตของเขา"

นักแสดงทุกคนตกตะลึงกับสไตล์ภาพของชิโวซึ่งช่วยผลักดันพวกเขาไปอีกระดับ "งานภาพของชิโวกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของอเลฮานโดร" ดิคาปริโอตั้งข้อสังเกต "ทั้งสองคนนำตัวเองเข้าไปซึมซับเนื้องาน จากนั้นก็ทำงานกับนักแสดงเพื่อประสานการเคลื่อนไหวและช็อตที่ซับซ้อนอย่างน่าเหลือเชื่อ สิ่งที่พวกเขาทำสำเร็จได้อย่างเป็นเอกลักษณ์ในหนังเรื่องนี้ก็คือความจริงเสมือนซึ่งทำให้คุณรู้สึกว่าได้ออกไปเผชิญสภาพต่างๆ ร่วมกับตัวละคร คุณได้เห็นภาพผ่านมุมมองของกลาสจนถึงขั้นที่คุณแทบจะรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในจิตใต้สำนึกของเขา"

The Revenant – ต้องรอด ฉายแล้ววันนี้ทุกโรงภาพยนตร์

https://www.facebook.com/RevenantMovieThailand

แสง-เงา และภาพวาด The Revenant – ต้องรอด แสง-เงา และภาพวาด The Revenant – ต้องรอด แสง-เงา และภาพวาด The Revenant – ต้องรอด
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit