ทีเอ็มเอ จับมือ สภาพัฒน์ จัดเวทีชี้ชัดความเชื่อมโยงรัฐ-เอกชน ประสานพลัง เดินหน้ายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

05 Feb 2016
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์ หรือ สศช.)ร่วมจัดสัมมนา "Executive Forum on Competitiveness" โดยมีผู้นำจากภาครัฐและเอกชนขึ้นให้ข้อมูล ความคืบหน้าการทำงาน และ ความเชื่อมโยงกลไกเพื่อขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

ภายในงานสัมมนา มีการให้ข้อมูลการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) คณะกรรมการประสานพลังประชารัฐ และ บทบาทของภาคเอกชนในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะที่ผ่านมา

คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช กล่าวว่า "ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลจัดให้มีคณะทำงานเข้ามาดูแลการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอย่างจริงจัง ได้แก่ ขับเคลื่อนคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ที่มีอยู่เดิม และเพิ่มกลุ่มนักธุรกิจอาสา ร่วมเป็นคณะทำงานประสานพลังประชารัฐ ฯลฯ เป็นต้น โดยเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทั้งนี้ การพัฒนา ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศเป็นการวางแผนพัฒนาระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กพข.จะเป็นคณะทำงานกำหนดยุทธศาสตร์ รวมถึงการจัดการข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลนั้นๆ เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความเข้าใจที่ตรงกัน ในขณะเดียวกัน การประสานพลังประชารัฐจะนำแผนยุทธศาสตร์ไปวางแผนปฎิบัติเพื่อให้เกิดผลลัพท์ที่ดีอย่างรวดเร็ว"

คุณกานต์ ตระกูลฮุน ผู้มีบทบาทที่สำคัญในคณะกรรมการประสานพลังประชารัฐหลายๆ กลุ่ม ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "ปัจจุบันภาครัฐเปิดกว้างมากขึ้น ยอมที่จะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ มุมมองของการพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรม มีการวางแผนเพื่อผลิตนักวิจัยและนักพัฒนานวัตกรรม โดยจะสร้างโอกาสทางอาชีพในตลาดมากขึ้น ให้มีความก้าวหน้าในสายงาน นอกจากนี้ยังมีการเว้นภาษีของ R&D 300% สร้างบัญชีนวัตกรรมจากทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) เพื่อให้เกิด การผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายจริงในตลาด (Commercialize) ในขณะนี้มีกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เข้ามาสนับสนุนและส่งเสริม ในส่วนนี้ นอกจากเรื่องการพัฒนาด้านนวัตกรรมแล้ว ยังมีเรื่องการปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ ที่ให้ความสำคัญของการดำเนินงานเร่งด่วน (Quick Win) ได้แก่ การทบทวนปรับแก้กฎหมายอย่างจริงจัง ปรับลดกฎหมายที่ไม่จำเป็น เป็นต้น เมื่อมองภาพรวมในปัจจุบันแล้ว เห็นได้ว่าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีความตั้งใจทำงานมาก ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีได้อย่างแน่นอน"

ทั้งนี้ คุณธานินทร์ ผะเอม ได้เพิ่มเติมในมุมมองของการดำเนินงานภาครัฐ ว่า "การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมีความเกี่ยวเนื่องกับการปรับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติจะต้องเชื่อมโยงเข้ากับรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ รวมถึงแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 จำเป็นต้องมีการปฎิรูปอย่างชัดเจนและมีความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งจะทำเกิดความมีส่วนร่วม(ของภาคเอกชนและประชาชน) ในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 10-20 ปี ทั้งนี้ มีการอนุมัติกรอบการทำงานที่กำหนดไว้ รวมถึงแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้นำคณะการดำเนินการและต้องเตรียมพร้อมเรื่องกำลังคนเพื่อเข้ามารองรับการพัฒนายุทธศาสตร์ โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนา ขีดความสามารถด้านนวัตกรรม เช่น มีการเตรียมแผนการศึกษา ผลิตนักวิจัย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Physical Infrastructure) มีการพัฒนากระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ผ่านการวางยุทธศาสตร์ที่ต่างกันไป และตอนนี้ในท้องถิ่นก็มีความตื่นตัว ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เรื่องการวางผังเมือง เรื่องการขนส่งที่มีการเชื่อมต่อกันให้เกิดความคล่องตัว เป็นต้น เป้าหมายสูงสุดของการดำเนินงานคือ มุ่งไปสู่ปรัชญาทางเศรษฐกิจ นั่นคือ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน"

คุณอารีย์พันธ์ เจริญสุข เสริมข้อมูลว่า "ก.พ.ร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการหาแนวทางพัฒนาให้การทำงานของภาครัฐรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งต้องปรับตัวตามเกณฑ์ชี้วัดของ การจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยธนาคารโลก (World Bank) ได้แก่ ง่ายขึ้น เร็วขึ้น (ราคา)ถูกลง (กฎที่ใช้)ไม่ซับซ้อน และมีคุณภาพ ทั้งนี้ ก.พ.ร. ได้วางแผนระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว โดยมีผังขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ "Doing Business"ที่จะเชื่อมโยงการติดต่อและการทำงานของธุรกิจที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐทั้งระบบ นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนกฎหมายอย่างจริงจัง ในเรื่องต่างๆ เช่น อ.ย. ศุลกากร ผังเมืองหรือที่ดิน การตรวจคนเข้าเมือง โดยมีระยะเวลาเป้าหมายให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน เป็นต้น ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการให้ข้อมูลและการนำเสนอประเด็นที่ให้ภาครัฐเข้ามาพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"

นอกจากนี้ คุณธีรนันท์ ศรีหงส์ กล่าวถึงมุมมองภาพรวมว่า "การร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จำเป็นต้องจัดการข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว และประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมีความเข้าใจเนื้อหาที่ง่ายและชัดเจนด้านการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดพื้นฐาน จาก พื้นฐานความคิดเห็นส่วนตัว (Opinion Based) เป็น พื้นฐานข้อเท็จจริง (Fact Based) นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการดำเนินงานจาก รูปแบบการทำงานแบบวางแผน (Planning) เป็น รูปแบบการทำงานเชิงปฎิบัติการ (Execution) มากขึ้นด้วย"

"เชื่อว่า ข้อมูลที่ได้รับฟังในงานสัมมนาครั้งนี้ จะสามารถบอกถึงการดำเนินงานและความคืบหน้าในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ได้ทำร่วมกัน และจะเพิ่มความเชื่อมั่นในศักยภาพความร่วมมือของคณะกรรมการทุกกลุ่ม อาทิ กพข. และคณะกรรมการประสานพลังประชารัฐ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมของประเทศอย่างยั่งยืน" คุณวิสิฐ ตันติสุนทร กล่าวสรุปทิ้งท้าย