ด้านปัจจัยการผลิตพืช ได้สั่งการให้สารวัตรเกษตร และเครือข่ายสารวัตรเกษตรกว่า 400 นาย สแกนสถานที่ผลิตและร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตอย่างเข้มข้นทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้เข้าตรวจสอบแล้ว 4,606 แห่ง พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างและสั่งอายัดเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ แบ่งเป็น ปุ๋ย จำนวน 60 ตัวอย่าง อายัดปุ๋ยชนิดเม็ด 3,151.8 กิโลกรัม ชนิดน้ำ 6 ลิตร วัตถุอันตราย จำนวน 64 ตัวอย่าง อายัด 37 กิโลกรัม ชนิดน้ำ 452.5 ลิตร และพันธุ์พืช จำนวน 24 ตัวอย่าง อายัด 41.38 กิโลกรัม ขณะเดียวกันยังได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าจับกุมดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย จำนวน 7 ราย พร้อมยึดของกลาง 25 รายการ ปริมาณ 247 ตัน มูลค่ารวม 14.37 ล้านบาท ซึ่งการกระทำผิดดังกล่าวมีโทษหนักตั้งแต่จำคุก 1 – 10 ปี หรือปรับเป็นเงินขั้นสูงสุดหลักล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ยาวนานส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรลดลง จึงทำให้ผู้ประกอบการเกรงว่าไม่มียอดสั่งซื้อ และไม่สามารถระบายสินค้าในสต็อกได้ อาจทำให้เกิดปัญหาปัจจัยการเสื่อมคุณภาพ และพบสินค้าที่วางจำหน่ายบางชนิดยังใช้เลขทะเบียนเก่าซึ่งหมดอายุด้วย ซึ่งได้มอบหมายกรมวิชาการเกษตร เร่งวางมาตรการเพื่อกำจัดสินค้าดังกล่าวออกจากระบบทั้งหมดโดยเร็วต่อไป
ด้านสินค้าปศุสัตว์ได้มอบหมายให้สารวัตรปศุสัตว์บังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายที่กรมปศุสัตว์รับผิดชอบ ได้แก่ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ร.บ.สถานพยาบาลสัตว์ เป็นต้น ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 (ช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 –12 กุมภาพันธ์ 2559) มีการจับกุม 207 ครั้ง ตรวจยึดของกลาง 204 คดี มูลค่าของกลาง 39,197,655 บาท ส่วนความคืบหน้าผลการจับ/ยึดของกลางซากสัตว์แช่แข็งนำเข้าจากต่างประเทศ ปีงบประมาณ 2559 คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 – 12 กุมภาพันธ์ 2559 นั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 39 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 146,935.09 กิโลกรัม รวมมูลค่า 18,903,211 บาท รวมทั้งได้ส่งชุดเฉพาะกิจกองสารวัตรและกักกัน เข้าตรวจจับการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ซึ่งผิดกฎหมายมาตรา 31 ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถึงปัจจุบันจำนวน 90 ราย รวมทั้งหมดจำนวน 832,830.09 กิโลกรัม มูลค่า 81,307,731 บาท และล่าสุดได้มีการสุ่มตรวจการใช้สารเร่งเนื้อแดงจากฟาร์ม 42 ตัวอย่าง พบว่าใช้สารเร่งเนื้อแดงเกินมาตรฐาน จำนวน 28 ฟาร์ม ซึ่งได้ดำเนินคดีแล้ว 3 ฟาร์ม ในจังหวัดชลบุรี 2 ฟาร์ม ฉะเชิงเทรา 1 ฟาร์ม ทั้งนี้ อีก 25 ฟาร์มที่เหลือกรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างดำเนินคดีตามลำดับต่อไป
ด้านประมงทะเลได้ประกาศปิดอ่าวเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลให้มีความยั่งยืน ไปเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งมีกำหนดระยะเวลารวม 3 เดือน ระหว่างวันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. ของทุกปี ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่ 26,400 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่และเลี้ยงตัววัยอ่อนที่สำคัญของสัตว์น้ำเศรษฐกิจหลายชนิด โดยเฉพาะปลาทูมีช่วงเวลาวางไข่หนาแน่นที่สุดในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนของทุกปี โดยกรมประมงได้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 24 มกราคม 2550 เรื่องการกำหนดห้ามใช้เครื่องมือประมงบางชนิดทำการประมงในช่วงฤดูปลาที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน เครื่องมือประมงที่ห้ามตามประกาศฉบับนี้ อาทิ อวนลาก อวนติดตา อวนล้อมจับ อวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยก เป็นต้น ซึ่งมีลงโทษ ต้องระวางโทษปรับตามขนาดเรือ ตั้งแต่ 10 ตันกรอส – 150 ตันกรอสขึ้นไป เป็นเงินจำนวน 50,000 บาท – 30 ล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดสูงกว่า รวมทั้งต้องรับโทษตามมาตรการทางปกครองด้วย ส่วนการควบคุมการค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต กองบริหารจัดการด้านการประมง ได้มีการรายงานการจับกุมการลักลอบนำเข้า/ยึดสัตว์น้ำผิดกฎหมาย จาก 24 ด่านทั่วประเทศ พบการกระทำผิดการนำเข้าสัตว์น้ำทางเรือโดยโดยไม่แจ้งขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำจากพนักงานเจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์น้ำ ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 31 และการลักลอบนำเข้าโดยบุคคล ผ่านด่านตรวจจับสัตว์น้ำที่มีทั่วประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งรัดทุกหน่วยงานให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการติดตามเฝ้าระวังปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพอย่างชัดเจน แก้ไขปัญหาได้อย่างรอบด้านและยั่งยืนอีกด้วย