ปภ. ขับเคลื่อนกลไก “ประชารัฐ” เพิ่มความเข้มข้น แก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันช่วงวิกฤต

17 Feb 2016
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในช่วงควบคุมเข้มข้น โดยจัดตั้งกองอำนวยการระดับจังหวัดและระดับอำเภอ พร้อมใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ร่วมกับทีมประชารัฐติดตามแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบจากวิกฤตไฟป่าและหมอกควัน ตลอดจนเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยทางอากาศ เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่าฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อนเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศแห้ง จึงมีสถิติไฟป่าและหมอกควันสูงกว่าฤดูกาลอื่น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ สุขภาพอนามัย ระบบนิเวศ และการท่องเที่ยว รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ จากปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป พร้อมจัดตั้งกองอำนวยการระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการลงพื้นที่ร่วมกับทีมประชารัฐติดตามแก้ไขปัญหา อย่างจริงจังและต่อเนื่อง พร้อมแบ่งมอบพื้นที่ กำหนดภารกิจและหน่วยงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน ครอบคลุมทั้งพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่การเกษตร และพื้นที่ริมทาง รวมถึงระดมสรรพกำลังจัดทำแนวกันไฟ เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่และเพิ่มความถี่ในการลาดตระเวน จัดทำประชาคมกำหนดกติกาจัดระเบียบการเผา โดยชิงเผาก่อนช่วงวิกฤต ประกาศเขตห้ามเผาและช่วงเวลาควบคุมการเผาให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมการเตรียมพื้นที่การเกษตร โดยการไถกลบตอซังและใช้สารย่อยสลายแทนการเผา แสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคมสนับสนุนทรัพยากร องค์ความรู้ เทคโนโลยีด้านการเกษตร และภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร ตลอดจนรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบจากวิกฤตไฟป่าและหมอกควันผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ หอกระจายข่าว วิทยุโทรทัศน์ท้องถิ่น รถกระจายเสียงเคลื่อนที่ กรณีเกิดสถานการณ์ ไฟป่าและหมอกควันรุนแรงในพื้นที่ ให้สนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและวัสดุอุปกรณ์ควบคุมสถานการณ์ โดย เข้าปฏิบัติการระงับไฟป่าในทันที พร้อมจัดหาหน้ากากอนามัยแจกจ่ายแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง รวมถึงระดมวัสดุอุปกรณ์ฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละออง หมอกควันในอากาศ สำหรับจังหวัดที่มีสนามบินพาณิชย์ ให้ประสานการทำงานกับศูนย์ควบคุมการบินอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ประสานแจ้งสถานการณ์หมอกควัน และวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉินกรณีหมอกควันส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยทางอากาศ ทั้งนี้ เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันมีประสิทธิภาพมากขึ้น0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th