“พีแอนด์จี” ร่วมช่วยยกระดับ “เอสเอ็มอี” เจาะตลาดดิจิตอล สำหรับกลุ่มธุรกิจเครื่องสำอางให้เติบโตในอาเซียน

18 Feb 2016
พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ประเทศไทย จำกัด ในฐานะพันธมิตรคนสำคัญของสภานักธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US – ASEAN Business Council หรือ US-ABC) ร่วมสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนา "ธุรกิจดิจิตอลสำหรับกลุ่มธุรกิจเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงาม"(Training on Digital Business for Cosmetics and Personal Care Products)ระหว่างวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2559 ณ โรงแรมดิเอ็มเมอรัล รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
“พีแอนด์จี” ร่วมช่วยยกระดับ “เอสเอ็มอี” เจาะตลาดดิจิตอล สำหรับกลุ่มธุรกิจเครื่องสำอางให้เติบโตในอาเซียน

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือระดับภูมิภาคระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี (US-ASEAN Business Alliance for Competitive SMEs) โดยมีองค์กรภาคีจากทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา (US Agency for International Development หรือ USAID)ผ่าน ASEAN Connectivity through Trade and Investment project หรือ USAID-ACTI, คณะทำงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN SME Working Group), สภานักธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ABC) ซึ่งการอบรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทพีแอนด์จี ประเทศไทย, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และหน่วยงานที่เข้าร่วมเป็นภาคีการจัดฝึกอบรมได้แก่ บริษัทยูพีเอส, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทยโดยมีนักธุรกิจ SME ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนา 150 คน

การอบรมสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม (Cosmetics and Personal Care products) ซึ่งธุรกิจกลุ่มนี้ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิต และการส่งออกสำคัญของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งการยกระดับในครั้งนี้จะทำให้ประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมในกลุ่มธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อนามัยส่วนบุคคลเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) โดยงานสัมมนาครั้งนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อยให้ความสนใจเข้าร่วมอบรม 150 คน ในระยะเวลาการสัมมนาทั้งหมด 2 วัน (17-18 กุมภาพันธ์ 2559) ซึ่งก่อนหน้านี้ทางโครงการได้เสนอการฝึกอบรมแก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไปแล้วกว่า 4,000 คนในกลุ่มประเทศอาเซียน

หัวข้อสัมมนาครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลักก็คือ(1) โอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในระดับภายในประเทศ ภูมิภาคอาเซียน และตลาดโลก (2) รูปแบบของเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือ และวิธีการแก้ปัญหาของการตลาดดิจิตอล รวมไปถึงข้อกฎหมายและข้อบังคับในการใช้สังคมออนไลน์ (3) วิธีการจัดการที่ดี สำหรับผู้บริโภคออนไลน์ การบริการลูกค้า และการค้าปลีก และ (4) เรื่องราวและประสบการณ์ของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการขายปลีกอิเล็กทรอนิกส์ (E-Retailing), การสร้าง แบรนด์เครื่องสำอางของไทย และความสำเร็จของการลงทุนธุรกิจของกลุ่มประเทศ CLMV (Cambodia , Laos , Myanmar , Vietnam)"

สำหรับบทบาทของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในการอบรมครั้งนี้คือ ต้องการให้ SMEs ไทยมีความรู้ด้านดิจิตอล ซึ่งเป็นรากฐานของการเข้าถึงตลาดโลก นอกจากนั้น เศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของดิจิตอลจะเอื้อให้ SMEs สามารถเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทานของบรรษัทข้ามชาติได้ เพราะการจะเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวได้นั้น SMEs ต้องมีการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ที่ได้มาตรฐานสูงกว่าที่เป็นอยู่ อาทิ ด้านโล จิสติกส์ ด้านการบริหารห่วงโซ่อุปทาน ด้านธุรกรรมออนไลน์ และด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น องค์ความรู้และประสบการณ์ที่ SMEs ได้ทราบจากแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศเมื่อเข้าร่วมการฝึกอบรมครั้งนี้ จะช่วยขยายวิสัยทัศน์ความรู้ความเข้าใจ และยกระดับทักษะในการประกอบธุรกิจระดับโลก และการช่วยกันยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสู่การพาณิชย์ข้ามพรมแดนภายในตลาดต่างๆ ของอาเซียนในอนาคต

มร.ราอูล ฟอลคอน รองประธานคณะกรรมการอาเซียน, US-ASEAN Business Council และกรรมการผู้จัดการบริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ประเทศไทย พม่าและลาว กล่าวว่า "เราตระหนักดีว่า SME เป็นกลไกอันสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยและอาเซียน ซึ่งเราเองมีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจของสหรัฐและอาเซียน (US-ASEAN Business Alliance) ในการจัดอบรมสัมมนาครั้งนี้ ให้กับกลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงาม ที่จะช่วยเร่งขยายธุรกิจให้กลุ่มนักธุรกิจเครื่องสำอางของไทย เติบโตและแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค"

นางกรรณิการ์ จรัสอุไรสิน ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัทพรอคเตอร์แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง(ประเทศไทย) จำกัด และในฐานะรองประธานคณะกรรมการอาเซียน, US-ASEAN Business Council กล่าวว่า ""พีแอนด์จี มีความใกล้ชิดกับพันธมิตรธุรกิจ SME เป็นอย่างมากในซัพพลายเชน และองค์กรของเราเองก็เริ่มต้นด้วยการเป็นธุรกิจ SME มาก่อน จึงได้เห็นความสำคัญและมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจขนาดกลาง

และขนาดเล็กให้เติบโตควบคู่ไปกับการเติบโตของพีแอนด์จี และในฐานะที่ บริษัท พีแอนด์จี ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในบริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่เข้ามาสนับสนุนการจัดอบรม อีกทั้งได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ เพื่อให้เอสเอ็มอีของไทยได้มีความเข้มแข็งและเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป"

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีความพยายามในการยกระดับอุตสาหกรรมและ SMEs เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตและอุตสาหกรรมของภูมิภาคอาเซียน โดยมีการนำระบบดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดของผู้ประกอบการ รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพด้านการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ด้วยการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน

นางเกศมณี เลิศกิจจา ประธานคณะกรรมการอำนวยการ สมาคมเครื่องสำอางแห่งอาเซียน และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดอาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย เนื่องจากเป็นตลาดที่มีสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์สูงที่สุด ซึ่งในปัจจุบันตลาดได้เปิดกว้างมากขึ้นจากการก้าวเข้าสู่ AEC ถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะต้องพัฒนาศักยภาพตนเองให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยเฉพาะการพัฒนาการตลาดด้วยระบบดิจิทัล ทั้งในรูปแบบของ E-Commerce, E-Technology รวมไปถึงบริการอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการของเราเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วถึงและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลคาดการณ์การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชากรโลก

ซึ่งมีอัตราการเติบโตของยอดขายเครื่องสำอางในช่องทางออนไลน์ของตลาดโลกเป็นเท่าตัวในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้านดอลล่าห์สหรัฐอเมริกา โดยมาจากผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียมากที่สุดถึงร้อยละ 8 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ในขณะสัดส่วนของประชากรที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงขึ้นทุกๆปีอย่างรวดเร็วปัจจุบันนี้ พบว่าร้อยละ 39 ของประชากรโลก 7.2 พันล้านคนใช้งานระบบอินเตอร์เน็ต และพยากรณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 51 ของประชากรโลก 7.6 พันล้านคนในปี 2019

มูลค่าตลาดเครื่องสำอางของไทย

กลุ่มธุรกิจกลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงาม (Cosmetics and Personal Care Products) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในเชิงความสามารถการแข่งขันสำหรับประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยนับว่าเป็นฐานการผลิตและส่งออกเครื่องสำอางรายใหญ่ที่สุดในประเทศอาเซียน มีอัตราการเติบโตระหว่างร้อยละ 8-10 มูลค่ารวมกว่า 2.6 แสนล้านบาท ในปี 2557 มูลค่าการส่งออกประมาณ 9.8 หมื่นล้านบาท ประเทศคู่ค้าที่สำคัญคือสมาชิกอาเซียนมากที่สุดถึงร้อยละ 39 รองลงมาได้แก่ประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ในขณะที่ธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพความงามในช่องทางใหม่บนโลกออนไลน์ยังมีโอกาสอยู่มาก ซึ่งแปรไปตามอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อินเตอร์เน็ทและเข้าถึงบริการทาง Social Media และเป็นโอกาสอันดีในการให้ผู้ประกอบการของไทยได้มีองค์ความรู้ เพื่อนำไปใช้ขยายธุรกิจ

การอบรมสัมมนาในหัวข้อ "ธุรกิจดิจิตอลสำหรับกลุ่มธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม"(Training on Digital Business for Cosmetics and Personal Care Products) จัดขึ้นทั้งหมด 2 วัน (17-18 กุมภาพันธ์ 2559) ณ ห้องบอลรูม ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัล รัชดาภิเศษ ซึ่งนอกเหนือจากงานอบรมสัมมนาครั้งนี้แล้ว ผู้ที่สนใจยังสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของกลุ่มสถาบัน ASEAN SME Academy ที่มีการฝึกอบรม และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมผ่านทาง www.asean-sme-academy.org

HTML::image( HTML::image( HTML::image(